วันที่ 3 พ.ค. 2565 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ มีการแสดงวิสัยทัศน์ของงาน ‘กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เวทีเปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน จัดโดย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตรีคอเดอร์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิอิสรชน กลุ่มเส้นด้าย และ Mob Data Thailand สำนักข่าว The Reporters ข่าว 3 มิติ และ AIS PLAY เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความวิสัยทัศน์ และนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 24 คน โดยผู้สมัครจะได้เวลาแสดงวิสัยทัศน์ และนำเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน คนละ 5 นาที แนวคิดบางส่วนที่น่าสนใจ อาทิ
โดย ประยูร ครองยศ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เบอร์ 12 ระบุว่า ลงสมัครด้วยความมั่นใจ เพราะเป็นผู้สมัครฯ คนเดียวที่ทำงานให้ กทม. มากว่า 40 ปี รู้สึกไม่พอใจที่เขตปทุมวันไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตนเคยเป็น ผอ.เขตมาก่อน มั่นใจว่าเรื่องนี้ต้องมีเบื้องหลัง เป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน หากผู้ว่าฯ มีคุณธรรมอย่างแท้จริง ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ถกกันในวันนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่
ธเนตร วงษา ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เบอร์ 14 กล่าวว่า ถ้าอยู่คฤหาสน์แล้วล้อมรอบด้วยสลัม ก็คงไม่มีความสุข ตนมีวิธีแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน ด้วยการนำคนไร้บ้านและชุมชนแออัดมาสอนอาชีพชุมชนละ 1 คน การเป็นผู้ว่าฯ ต้องหาเงินเป็นด้วย ไม่ใช่ใช้เงินเป็นอย่างเดียว เสนอวิธีหารายได้จากอาหารริมทางเพื่อจัดสรรมาช่วยประชาชนชั้นรากหญ้า พร้อมทั้งต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเข้มข้น
ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มใส่ใจ เบอร์ 16 ระบุว่า สิทธิมนุษยชนคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี เช่นเดียวกับความปลอดภัย แต่ผลสถิติชี้ว่า อาชญากรรมด้านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง เสนอนโยบายความปลอดภัย กล้องวงจรปิดทุกตัวต้องใช้การได้ เรียกดูข้อมูลได้ทันที จัดตั้งศูนย์ระวังภัยในชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. เพื่อลดภัยจากฝุ่น PM 2.5 และสร้างการศึกษา 0 บาท ด้วย metaverse พร้อมใช้ภาษามือในการสื่อสารให้ถึงคนทุกกลุ่ม
ด้าน วรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เบอร์ 22 กล่าวว่า ตนเองลงสมัครเป็นครั้งที่ 7 จะประสานงานกับทุกๆ หน่วย เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนในแต่ละด้าน พร้อมเสนอให้รองผู้ว่าฯ แบ่งหน้าที่ช่วยเหลือคนจนเมือง หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ จะสั่งย้าย ผอ.เขตปทุมวัน เป็นคนแรก เนื่องจากไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนใช้พื้นที่ และจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเอื้อต่อการชุมนุม สำหรับค่าครองชีพและสลากแพงนั้น กทม. ต้องทำหน้าที่ประสานกับกระทรวงต่างๆ ได้ ผู้ว่าฯ จะอ้างอำนาจที่จำกัดให้ได้ ต้องประสานได้ทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา
'วิโรจน์' หนุนสิทธิชุมนุม ถาม กทม. หยุดเดินรถบีทีเอสทำไม หรือจะให้คนชุดลายพรางขึ้นไปซุ่มยิงอีก
จากนั้น วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เบอร์ 3 กล่าวถึงสิทธิการชุมนุม และสิทธิการแสดงออกทางการเมือง พื้นฐานที่สุด คือการจัดเตรียมห้องสุขา และกล้องวงจรปิด ที่จะไม่ยอมให้เสียเพราะใครบางคนอยากให้เสีย ต้องพร้อมจะให้ความยุติธรรมกับทุกคน
แต่อีก 2 เรื่องที่ควรจะต้องทำ คือการเปิดพื้นที่ของหน่วยงานราชการในสังกัด กทม. ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุมได้ ในกรณีที่จำเป็นหรือฉุกเฉิน และควรมีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นกลาง ทำงานร่วมกันกับผู้สื่อข่าวพลเมือง ภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้การชุมนุมมีความเป็นกลาง ปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงขั้นพิ้นฐาน สังคมคาดหวังสิ่งที่มากกว่านั้นจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
วิโรจน์ มองว่า พ.ร.บ.ความสะอาด เป็นกฎหมายที่ใช้เอาผิดกับผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งเป็นฝ่ายปกป้องนั้น ไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายกับฝ่ายนั้นเลย ที่สำคัญ สายสัญญาณ สายโทรศัพท์ที่รกรุงรังต่างๆ กลับไม่เคยมีการดำเนินการด้วยกฏหมายข้อนี้ รวมไปถึงตู้คอนเทนเนอร์ และรั้วลวดหนามหีบเพลงที่กีดขวางเส้นทาง เหตุใดผู้ว่า กทม. ถึงไม่ปรับ แล้วเมื่อมีผู้หวังดีไปเก็บทำความสะอาด กลับถูกดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์สินทางราชการ
นอกจากนี้ วิโรจน์ ยังต่อต้านการสั่งให้รถไฟฟ้าบีทีเอสหยุดทำการระหว่างมีการชุมนุม เนื่องจากเป็นสิทธิของประชาชนที่จะใช้ในการเดินทาง และยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยต่อประชาชนตามมาอีกด้วย
"คุณไปลิดรอนสิทธิการเดินทางของคนอื่นทำไม ถ้าคุณหยุดการเดินรถไฟฟ้า อันตรายจะเกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม คุณหมายจะให้ใครขึ้นไปบนรถไฟฟ้า จะให้คนใส่ชุดลายพรางขึ้นไปบนรางเพื่อยิงประชาชนหรือ คุณยังไม่สาใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดปทุมฯ หรือ ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมจะไม่หยุดรถบีทีเอสเด็ดขาด เพราะมันจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชน แล้วจะไม่ยอมให้คนใส่ชุดลายพราง หรือชุดสีอะไรต่างๆ ขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้า เพื่อส่องยิงประชาชน และทำกับประชาชนเหมือนไม่ใช่คนอีกต่อไป"
วิโรจน์ กล่าวว่า หากตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. และรัฐบาลสั่งการให้รถไฟฟ้าบีทีเอสหยุดทำการระหว่าวการชุมนุม วอโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องไปซุกใต้อำนาจ เพราะการหยุดบีทีเอสจะเป็นการลิดรอนสิทธิของคนเดินทาง แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีใครเอาอาวุธขึ้นไปเพื่อทำร้ายประชาชน
'สกลธี' ยันให้สิทธิการชุมนุมเต็มที่ ขอให้อยู่ภายใต้กฏหมาย
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (อิสระ) เบอร์ 3 กล่าวว่า จะเป็นผู้ว่า กทม. ที่หาเงินได้-ใช้เงินเป็น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้ว่าฯ กทม. คนไหน ที่หาเงินได้มาก่อน สถานการณ์โควิด-19 ใน 2 ปี ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การรอแต่งบประมาณจากส่วนกลางอย่างเดียวจะช่วยแก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที
สกลธี ย้ำว่า การกระจายงบประมาณต้องมีมากกว่านี้ ต้องลดการรวมศูนย์ ข้อดีของ กทม. คือมีศูนย์สาธารณสุขกระจายไปในชุมชนต่างๆ แต่ไม่ได้รับการพัฒนา หรือติดอาวุธให้เท่าที่ควร จึงไม่สามารถตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนได้ ควรเพิ่มงบประมาณเทคโนโลยีและบุคลากร ให้ศูนย์สาธารณสุขแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ให้ได้ เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ทันท่วงที
"ในภาวะวิกฤติงบประมาณของกรุงเทพฯ ต้องมีความยืดหยุ่น จะจัดซื้ออย่าให้ประชาชนต้องรอถึง 3 เดือน ควรต้องมีแนวทางที่จะตอบสนองต่อประชาชนได้ในภาวะฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด"
"ในส่วนพื้นที่ค้าขายในพื้นที่สาธารณะ ต้องจัดสมดุลให้ดี ระหว่างผู้ใช้ทางเท้าและผู้ประกอบการ จุดไหนที่ไม่กระทบเส้นทางสัญจร ต้องเอามาช่วยคนรายได้น้อย ที่ไม่มีแรงไปเช่าห้องแถวหรือที่ตามห้าง ไปที่รกร้างว่างเปล่าหรือที่ของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐควรต้องจับมือกันนำพื้นที่มาให้พี่น้องประชาชนทำมาหากิน แทนที่จะเอาไปจอดรถ หรือทิ้งขยะ"
สกลธี ยังระบุว่า เห็นด้วยกับการใช้สิทธิแสดงออกทางการเมืองอย่างเต็มที่ เพราะตนก็เคยทำมาก่อน อย่างที่หลายท่านทราบ โดยหากใช้พื้นที่ตามกฎหมายกำหนดไว้แล้ว กทม. ต้องเปิดให้กับผู้ที่มาใช้พื้นที่ แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้ทำแล้วยังทำ ก็ต้องรับผลของการกระทำ อย่างเช่นตนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เมื่อฝ่าฝืนกฏหมายก็ได้ใช้เวลาสู้คดีมาถึง 7-8 ปี
"เรื่องสิทธิเสรีภาพ ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. หากไม่ทำผิดกฎหมาย ยืนยันว่าจะต้องช่วย"
'รสนา' ย้ำจุดยืน ต้องหยุดโกง แล้วกรุงเทพฯ จะเปลี่ยน เน้นการบริหารต้องโปร่งใส
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (อิสระ) เบอร์ 7 กล่าวว่า เจตจำนงสำคัญที่สุดสำหรับการบริหารกรุงเทพฯ คือ ต้องหยุดโกง แล้วกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแน่ หากมีเจตจำนงแน่วแน่ว่าจะหยุดโกง จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ กทม. ได้อย่างแน่นอน
"เราต้องหยุดโกง แล้วสิ่งต่างๆ ที่เราอยากให้เกิดขึ้นจะเป็นไปได้ อยากเชิญผู้สมัครฯ ที่เสนอโครงการอลังการทั้งหลาย แต่ความอลังการเหล่านั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่แสดงเจตจำนงที่สำคัญว่า เราจะบริหารงานด้วยธรรมาภิบาล"
รสนา กล่าวว่า ขอประกาศเป็นสัญญาประชาคม หากตนได้รับตำแหน่ง จะนำเครื่องมือ ACT AI โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย มาใช้ เพื่อตรวจสอบเงินทอนในโครงการต่างๆ ผ่านหลักฐานการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อนำมาสู่การบริหาร กทม. อย่างโปร่งใสตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ ประชาชนเข้าถึงได้ และจะทำให้มีงบประมาณมากเพียงพอ สานต่อโครงการต่างๆ ที่มีการนำเสนอมาได้
รสนา ยังกล่าวว่า กทม. มีภาคประชาสังคมที่มีความรู้มากในแต่ละด้าน แต่ไม่เคยได้รับโอกาสจาก กทม. ให้เข้ามาเสนอแนะ ดังนั้น เจตจำนงของการบริหารอย่างโปร่งใส ต้องเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมจากประชาชนภาคต่างๆ แล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาของกทมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนเร่ร่อน พื้นที่สาธารณะ แล้วปัญหาคนป่วยติดเตียง เรามีคนจำนวนมากที่ทำงานในแต่ละด้านมาอย่างยาวนาน กทม. ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้เข้ามาร่วมมือ
"ดิฉันขอประกาศว่า เราจะบริหารงานอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาล ถ้าหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่ แล้วเราจะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดสรรให้กับปัญหาทุกเรื่อง" รสนา กล่าว
'สุชัชวีร์' พร้อมหนุนม็อบอย่างเท่าเทียม ไม่สองมาตรฐาน
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนหมายถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ จากการเดินทางมาแล้ว 50 เขต พบว่า ยังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน จึงต้องตั้งต้นด้วยการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งสวัสดิการ ทำให้คนกรุงเทพฯ ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก และราคาถูก
ชาวกรุงเทพฯ เสียโอกาสไปมากในช่วงที่ผ่านมา เมื่ออื่นๆรู้จักการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาที่ซ้ำซาก เช่น มลพิษ รถติด น้ำท่วม และกรุงเทพฯ ยังต้องเป็นต้นแบบของอาเซียน เพราะกรุงเทพฯ มีศักยภาพหลายอย่าง แต่ยังขาดผู้นำที่จะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านสิทธิการชุมนุมนั้น สุชัชวีร์ กล่าวว่า "ผมสนับสนุนการแสดงออกทางการเมือง ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะไม่มีสองมาตรฐาน จะดูแลทุกๆ การชุมนุม ไม่ว่าใคร ที่ไหน อย่างเท่าเทียมกัน"
สุชัชวีร์ ยังกล่าวถึงเรื่องความปลอดภัย โดยระบุว่า ระหว่างทางที่มา ตนพบเห็นป้ายหาเสียงที่ถูกกรีดทำลายมากมายบนถนนสายหลักของกรุงเทพฯ ดังนั้น สิทธิเรื่องความปลอดภัยควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวกรุงเทพฯ โดยจะมุ่งสร้างกล้องวงจรปิด CCTV แบบมีสัญญาณไวไฟ ให้เชื่อมต่อถึงกันได้หมด เพื่อให้การชุมนุมมีความปลอดภัยที่การันตีได้
สำหรับปัญหาคนไร้บ้านนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยความคิดว่าคนเท่ากัน และคนในเมืองต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรรังเกียจกัน สำหรับคนไร้บ้านเนื่องจากตกงาน กทม. ต้องมีที่พักพิงชั่วคราว และดูแลเรื่องการฝึกอาชีพ รวมไปถึงตามประสานหางานให้พวกเขาได้ด้วย
สุชัชวีร์ ยังมองว่า การมีอยู่ของกลุ่มเส้นด้ายเป็นข้อพิสูจน์ว่าระบบสาธารณสุขยังไม่เท่าเทียม มีช่องว่างมากมาย ชวาที่ชัดที่สุดคือปัญหาคอขวด คือระบบราชการที่มีปัญหา ต้องเติมกำลังพลและเครื่องมือแพทย์ เพราะสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องฉุกเฉิน เครื่องมือแพทย์ต้องมีประจำอยู่ในทุกชุมชน
"พี่เอ้จะไม่ส่งต่อปัญห าหรือคำถามแบบเดิมๆ นี้ไปสู่ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป" สุชัชวีร์ กล่าว
'ชัชชาติ' ชี้เส้นเลือดฝอยที่อ่อนแอ คือปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน
ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ เบอร์ 8 เรื่องสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของทีมเพื่อชาติ คือการทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบางเด็ก ดังนั้นสิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทีมงานของเรา
"พวกเมกะโปรเจกต์ โครงการใหญ่ๆ กรุงเทพฯ มีพอสมควรแล้ว แต่สำหรับเส้นเลือดฝอย คนตัวเล็กตัวน้อยนี่แหละ คือปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน"
สำหรับเสรีภาพในการชุมนุมนั้น ชัชชาติ ยืนยันว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กทม. ต้องอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ทั้งการเก็บขยะ น้ำดื่ม ห้องน้ำสาธารณะ แพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลความปลอดภัย ไม่ว่าประชาชนเหล่านั้นจะมีความคิดเห็นเหมือน หรือต่างจากรัฐบาลอย่างไร
นอกจากนี้ กทม. ต้องเตรียมพื้นที่สาธารณะให้มีการชุมนุมได้ ตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่สำหรับการชุมนุมได้ โดยที่ไม่ต้องขออนุญาต คนก็จะมีการชุมนุมได้ง่ายขึ้น และส่งเสริมให้เกิดเป็นวัฒนธรรม สร้างพื้นที่ในการปราศรัยหรือบทสนทนาได้อีกด้วย
ชัชชาติ ยังมองว่า หลังโควิด-19 ระบบสาธารณสุขของประเทศต้องไม่เหมือนเดิม จากการลงพื้นที่ร่วมกัน ตนได้เห็นความสามารถของกลุ่มเส้นด้าย แต่พบปัญหาคือไม่มีระบบในการจัดการอย่างทั่วถึง มีคนเสียชีวิตคาบ้านให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่ หัวใจของเรื่องสาธารณสุขหลังโควิด-19 คือต้องเน้นเรื่องปฐมภูมิ คือเส้นเลือดฝอยที่อยู่ติดกับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น
"กทม. ต้องไปเน้นพัฒนาศูนย์สาธารณสุขใกล้ชุมชน 69 แห่ง ให้มีคุณภาพ ขยายการบริการให้ครอบคลุม เอาโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยติดเตียงมาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์สาธารณสุข เพิ่มการดูแลให้ถึงบ้านของผู้ป่วยติดเตียง ด้วยระบบเทเลเมดิซีน หรือแพทย์ทางไกล"
ชัชชาติ ยังสนับสนุนให้ กทม. มีการลงทะเบียนคนไร้บ้าน โดยร่วมมือกับมหาดไทย นำคนไร้บ้านเข้าสู่ระบบ ให้ได้รับสวัสดิการต่างๆ เหมือนกับประชาชนทั่วไป และส่งเสริมให้มีศูนย์พักพิง เช่น บ้านอิ่มใจ ช่วยดูแลเรื่องความสะอาดสาธารณสุข ใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน สร้างศูนย์อิ่มใจพักพิงชั่วคราวใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
"กทม. ต้องใส่ใจในรายละเอียด คนตัวเล็กตัวน้อย คือคนสำคัญของเมือง เมืองขับเคลื่อนไปได้เพราะพวกเขา ดังนั้นต้องดูแล เพราะหนึ่งชีวิตจากไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้"
'ศิธา' พร้อมดูแล-แก้ไขปัญหาให้ทุกม็อบ ยันดูแลม็อบมาไล่ตัวเอง
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 11 ระบุถึงปัญหาของกลุ่มต่างๆ ที่ถามมาว่า ตนอยู่กรุงเทพฯ มา 50 ปี นโยบายหาเสียงยังคงเหมือนเดิม สะท้อนว่าปัญหาเก่าๆ ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าหากยังทำสิ่งเดิม การเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงจะไม่ต่างจากนี้
น.ต.ศิธา กล่าวว่า กทม. ต้องเข้าไปดูแลปัญหาของคนที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยไม่จำกัดว่าคนเหล่านั้นมีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. หรือไม่ และควรมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ดังนั้น ถ้าจะใช้ พ.ร.บ.ความสะอาดเพื่อกีดกันม็อบ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ แล้วตนจะไม่ทำเช่นนั้น
"แม้ว่าม็อบนั้นจะมาไล่ผมหรือคนในรัฐบาลฝั่งเดียวกับผมก็ตาม จะต้องอำนวยความสะดวก และคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นต้นเหตุของความคับข้องใจของเขา มาแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด"
ส่วนปัญหาของคนเร่ร่อนนั้น น.ต.ศิธา กล่าวว่า มีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว กทม. สามารถเข้าไปช่วยเหลือ เติมเต็มในส่วนที่ขาดได้ แต่ไม่ควรใช้งบประมาณของ พม. เข้าไปเพิ่มเติม เพราะ พม. มีงบประมาณสำหรับเรื่องนี้อยู่แล้ว กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากทางโควิด-19 วิกฤตการเมือง และเศรษฐกิจ มากที่สุดในประเทศไทย น.ต.ศิธา เสนอให้ทำกรุงเทพฯ เป็นแซนด์บอกซ์ สำหรับแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 พร้อมทั้งยังควรดูแลค่าโดยสารสำหรับนักศึกษา ให้สามารถเดินทางไปถึงที่พักในราคาที่ถูกลงด้วย
สำหรับกรณีที่ ผอ.เขตปทุมวัน ไม่อนุญาตให้เวทีนี้ใช้พื้นที่หน้าหอศิลป์ฯ นั้น น.ต.ศิธา มองว่า อาจจะมีเงื่อนงำบางประการ เพราะไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะไม่อนุญาตให้ใช้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็มีการจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ กทม. ในลักษณะเดียวกัน บริเวณสกายวอล์กหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งผู้รับผิดชอบก็เป็น ผอ.เขตท่านเดียวกันนี้ และสังเกตได้ว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครฯ เบอร์ 6 ก็ถอนตัวจากเวทีนี้ แต่เรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่าน
"เป็นคำสั่งของรัฐบาลหรือใครหรือเปล่าที่ไม่อยากให้พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัว ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.อัศวิน" น.ต.ศิธา ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง