ศาลอาญา รัชดาภิเษกนัดสืบพยานคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องหมุดคณะราษฎร ในหัวข้อ “หมุดที่หายเป็นสมบัติของชาติ” โดยยืนยันว่าเป็นเฟซบุ๊กของตนเองจริง แต่สิ่งที่โพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดตามฟ้อง
ขณะเดียวกันนายวัฒนา เป็นผู้ซักค้าน พยานฝ่ายโจทก์ด้วยตนเองจำนวน 4 ปาก เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่า การยืนยันว่า หมุดคณะราษฎร เป็นโบราณวัตถุ สอดคล้องกับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หลายคน เช่น รองศาสตราจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ศาสตราจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อีกหลายคน แม้จะเป็นความเห็นที่แตกต่างจากกรมศิลปากรที่ระบุว่าหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุก็ตาม
นายวัฒนาได้ซักค้าน พยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร จนยอมรับว่า โบราณวัตถุ สามารถเป็นได้ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน ตามการรับรองของกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังซักค้าน ให้ศาลเห็นว่าหลังโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง
โดยพยานโจทก์อีกคน ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายยอมรับว่า เสียดายเพราะ หมุดคณะราษฎรที่หายไป มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นจิตวิญญานของชาติ และยอมรับว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง
นายวัฒนาซักค้านพยานโจทก์เพื่อชี้ให้ศาลเห็นด้วยว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวแบ่งออกเป็น สามส่วน ประกอบด้วย ส่วนของข้อเท็จจริง ซึ่งพูดถึงหมุดคณะราษฎรที่หายไปจริงจึงไม่ใช่การบิดเบือน ส่วนการแสดงความเห็น ที่พูดถึงการยืนยันว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ก็ไม่สามารถเป็นเท็จได้โดยสภาพเพราะการแสดงความคิดเห็น สามารถแตกต่างกันได้
ขณะที่การติชม ก็สามารถทำได้ เพราะหน่วยงานราชการควรแสดงความรับผิดชอบ ต่อการหายไปของหมุดดังกล่าวเพราะ กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน จำเลยยังซักค้านเพื่อชี้ให้ศาลเห็นด้วยว่า บริเวณที่หมุดคณะราษฎรฝังอยู่ แวดล้อมด้วยสถานที่ราชการ หน่วยงานด้านความมั่นคง และเป็นเขตพระราชฐาน เมื่อสมบัติของทางราชการหายไป สมควรที่หน่วยงานราชการจะถูกประนาม
พยานโจทก์ยังยอมรับด้วยว่า การหายไป ของหมุดคณะราษฎร สะท้อนการขาดความรับผิดชอบ ของหน่วยงานราชการ และยอมรับว่าการที่หมุดหายไป เป็นการแสดงความคิดเห็นและถือว่าเป็นการติชมโดยสุจริต การแสดงความเห็นดังกล่าวมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่จำเลยเพียงคนเดียว ซึ่งโดยหลักของกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรับแจ้งความในคดีนี้
สำหรับคดีดังกล่าวจะ นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์อีกครั้งในวันที่10ตุลาคม และสืบพยานจำเลย ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มประกอบด้วยนักการเมือง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และประชาชน ในช่วงปลายเดือนตุลาคม คาดว่าจะมีคำพิพากษาก่อนสิ้นปี