ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดสืบพยานคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องหมุดคณะราษฎร ในหัวข้อ "หมุดที่หายเป็นสมบัติของชาติ" เป็นนัดสุดท้าย
รองศาสตราจารย์โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนักกฎหมายมหาชน ระบุว่าหมุดคณะราษฎร บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองของประเทศไทย ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงดังกล่าว และนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าหมุดดังกล่าวเป็นสังหาริมทรัพย์ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เป็นสาธารณสมบัติ ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย ใช้งบของรัฐ จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน มีประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นโบราณวัตถุ
พร้อมยืนยันว่า หมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุตามนิยามกฎหมาย ขณะเดียวกันเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายไม่สามารถเป็นเท็จได้ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็น ถือเป็นหลักสากล รัฐธรรมนูญให้การรับรอง และยังเป็นหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รับรองการแสดงความคิดเห็นไว้
นอกจากนี้ยังเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของจำเลย เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นความเห็นทางวิชาการ โดยเฉพาะทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของแผ่นดินรัฐบาล มีหน้าที่ต้องติดตามเอาคืน จึงมองว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสุจริต
ด้านศาสตราจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เบิกความยืนยันว่า หมุดคณะราษฎรเป็นหลักฐานการเปลี่ยนแปลงของระบอบประชาธิปไตยและการมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก
พร้อมยืนยันว่าตนเองเป็นผู้ให้ความเห็นและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ และมีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ อีกหลายคนที่มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน รวมถึงรองศาสตราจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ ระบุเพิ่มเติมว่า เหตุที่มีบุคคลต่างๆ แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพราะหมุดคณะราษฎรมีความสำคัญ เป็นต้นกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นผลงานของกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
"หมุดคณะราษฎรยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทยสมัยใหม่ การฝังหมุดดังกล่าว มีการกระทำในลักษณะเป็นรัฐพิธี ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก ดูจากการที่มีคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ รวมถึงประชาชนเข้าร่วมในขณะนั้น " ชาญวิทย์ กล่าว
อ่านเพิ่มเติม