ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นัดชุมนุม 6 ธันวาคมนี้ ค้านกฏหมายสิ่งแวดล้อมเอื้อโครงการขนาดใหญ่ไม่ต้องทำอีไอเอ

หลังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งได้รวมเอาประกาศม.44 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฏหมาย จนทำให้โครงการขนาดใหญ่บางโครงการไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกฏหมายสิ่งแวดล้อมฉบับดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 จะเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเดินหน้าร่างกฎหมายดังกล่าว และตั้งต้นการทำกฎหมายใหม่

ส่วนสาเหตุที่คัดค้าน นายประสิทธิ์ชัย ระบุว่า นอกจาก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายสิบปี เพราะยังใช้กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ไม่ได้ส่งเสริมการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการเอื้อให้เกิดการละเมิดต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้นำเอา มาตรา 44 ที่ประกาศให้บางโครงการไม่จำเป็นต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ (EHIA )เข้าไปด้วย

จึงเรียกร้องให้รัฐบาล1.ขอให้ยุติการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ…. ที่ดำเนินการอยู่ และต้องให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 58

"หากรัฐบาลไม่ยอมยุติการเดินหน้าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะรวมตัวกันเพื่อมาปกป้องแผ่นดินและสิ่งแวดล้อมให้รอดปลอดภัย"

นายประสิทธิ์ชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้แก้ไขกฏหมายสิ่งแวดล้อมดังนี้คือ 1.แก้ไขความสัมพันธ์ของผู้ว่าจ้างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากเดิมเจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างให้มีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อว่าจ้างนักวิชาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อตัดความสัมพันธ์จากเจ้าของโครงการ

2.ผู้พิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องรับผิดชอบโดยกำหนดบทลงโทษ หากไม่สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการได้

3ในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรจะมีตัวอย่าง หรือโครงการในต่างประเทศที่สามารถผลกระทบได้จริงมายืนยัน

4.ก่อนทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการจัดประเมินยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมก่อน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เคยเดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วแต่ไม่ได้รับการรับฟังจากรัฐบาล จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้ผ่านกฏหมายฉบับดังกล่าว