ไม่พบผลการค้นหา
เปิดคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะและพิษของตะขาบ รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จาก ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์

ข่าวอาจารย์หนุ่มถูกตะขาบกัดระหว่างนั่งอยู่ที่ร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า ย่านเกษตรนวมินทร์ โดยเข้าไปกัดบริเวณขาหนีบและอัณฑะ จนทำให้ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และนอนดูอาการถึง 4 วัน กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง

'วอยซ์ออนไลน์' นำคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะและพิษของตะขาบ รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จาก ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุไว้ในจุลสารเสาวภา สภากาชาดไทย มานำเสนอ

ผศ.นพ.สุชัย บอกว่า ตะขาบ เป็นสัตว์ขาปล้อง ที่พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในประเทศเขตร้อน และเขตอบอุ่น อุบัติการณ์การกัดไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าเป็นสัตว์พิษที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลได้บ่อย รองจากงูพิษกัด

ลักษณะของ ตะขาบมีลำตัวยาวเป็นปล้อง แบนขนานราบกับพื้น มีขาออกจากปล้อง ปล้องละ 1 คู่ รวมเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 30 - 180 ข้าง แต่ที่พบในประเทศไทยอยู่ในอันดับ (order) Scolopendra มักมี 21 ปล้อง ขา 40 ข้าง โดยขาคู่หน้าจะเปลี่ยนเป็นเขี้ยวพิษ

ตะขาบมีแหล่งอาศัยอยู่ได้หลายแบบ เช่น ใต้เปลือกไม้ ขุดรูในดิน ฯลฯ แต่ต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะผิวคลุมลำตัวเก็บความชื้นได้ไม่ดี

เขาให้ความรู้ว่า พวกมันเป็นสัตว์ล่าเหยื่อ กินเนื้อ หากินในเวลากลางคืน เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว มีพิษเพื่อการดำรงชีวิต จะกัดคนก็เมื่อมันคิดว่าคนจะทำร้ายมัน อาหารโดยธรรมชาติได้แก่ แมลงและแมงตัวเล็ก ๆ ซากสัตว์

เนื่องจากตะขาบอาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นท่วมแหล่งที่อยู่ของมันตะขาบอาจหนีน้ำมายังที่พักอาศัยของคนได้ ดังนั้นตะขาบจึงเป็นสัตว์พิษที่พบได้บ่อยเมื่อเวลามีน้ำท่วม ตะขาบกัดคนโดยใช้เขี้ยวคู่หน้าและฉีดน้ำพิษเข้าในแผลกัด

น้ำพิษของตะขาบประกอบด้วยเอนไซม์ proteinases และ esterases และส่วนประกอบที่ไม่ใช่ เอนไซม์ได้แก่5-hydroxytryptamine และ istamine โดยปกติพิษของตะขาบจะไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบที่กัด มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจาก ถูกตะขาบกัดอยู่ 2 ราย ในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย

อาการส่วนใหญ่ได้แก่ อาการปวด คัน บวมแดงร้อน บริเวณถูกกัด อาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วยและมักดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง

อาการปวดมักรุนแรง บางทีมีอาการปวดแปลบ (paresthesia) ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เพราะทนอาการปวดไม่ไหวในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้หรือกดเจ็บ อาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะหายได้เองในที่สุด

สำหรับการ​ดูแล​ตนเองหลังจากถูกกัด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำดังนี้

1. กินยาพาราเซตามอลแก้ปวด

2. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด

3. ใช้ยาหม่องหรือยาสามัญประจำบ้านถูทาบาง ๆ และ เบาบริเวณที่ถูกกัดต่อย

4. ถ้าปวดมาก ใช้น้ำอุ่นประคบแผลนาน 15-20 นาที แต่ต้องระวังอย่าใช้น้ำร้อนเกินไป

5. ให้รีบไปพบแพทย์ หรือสถานพยาบาลเมื่อมีอาการหรืออาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ มีประวัติแพ้พิษตะขาบ , ปวดมาก , มีอาการหอบ แน่นหน้าอก เหนื่อย , ไม่แน่ใจว่าเป็นตะขาบกัด อาจเป็นสัตว์พิษอื่น เช่น งูพิษ

แนวทางการ​รักษาของเเพทย์ ผศ.นพ.สุชัย บอกว่า จะให้ยารักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาแก้ปวด ยาแก้คัน และถ้ามีการอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนจะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยส่วนใหญ่จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาล

ด้านการ​ป้องกัน แนะนำให้ดูแลรักษาบริเวณที่อยู่อาศัยไม่ให้รกรุงรังกำจัดเศษอาหาร และควบคุมปริมาณแมลงเพื่อกำจัดแหล่งอาหารของตะขาบหมั่นสังเกตท่อน้ำหรือทางระบายน้ำ ร่องต่าง ๆตามพื้นและมุมผนัง ว่ามีตะขาบหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีน้ำท่วมบ่อย