ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจประชาชนร้อยละ 60 เข้าใจผิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาหายได้ และที่สำคัญผู้เสียชีวิตในปีนี้ถูกสุนัขที่เลี้ยงกัด หรือข่วน เพราะเชื่อว่าสุนัขไม่ป่วย ขอความร่วมมือเจ้าของสัตว์เลี้ยงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน รีบทำความสะอาดแผลแล้วไปพบแพทย์ทันที

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปี 2561 นี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย คือ ที่ จ.สุรินทร์ จ.สงขลา และ จ.ตรัง โดย 2 รายลูกสุนัขกัด มีแผลเล็กน้อย ส่วนอีก 1 รายเป็นสุนัขมีเจ้าของกัด ทั้ง 3 รายไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน จึงขอย้ำเตือนประชาชนว่า หากถูกสุนัข แมวกัด หรือข่วน แม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือเป็นลูกสุนัขมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ ต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัด จึงจะได้ผลเพราะหากติดเชื้อ พิษสุนัขบ้า และปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท แสดงอาการป่วยแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย

ทั้งนี้ มีการสำรวจความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าจากประชาชน 11,369 คน พบว่า ระดับความรู้ของประชาชนในจังหวัดที่พบผู้เสียชีวิตหรือพบสุนัขบ้า แตกต่างจากพื้นที่ที่ไม่พบโรค ที่น่าตกใจคือร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ ร้อยละ 34 ไม่ทราบว่าหากฉีดวัคซีนไม่ครบชุด ไม่ตรงตามกำหนดนัด อาจตายได้ถ้าสุนัขที่มากัดเป็นสุนัขบ้า ส่วนร้อยละ 32 ไม่ทราบว่า การล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง และทายาเบตาดีน ช่วยลดเชื้อที่บาดแผลได้ จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งให้ความรู้ที่ถูกต้อง แก่ประชาชน เน้นการสร้างความตระหนักในการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผู้ถูกกัดหรือข่วนต้องฉีดวัคซีนให้ครบเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยนำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข, และแมวไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2–4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้านเพราะอาจติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ เลือกซื้อสัตว์เลี้ยงที่มีประวัติพ่อแม่ของสัตว์ ประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรค หลังซื้อให้รีบพาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามเกณฑ์อายุ 

นอกจากนี้ ให้ยึดหลัก 5 ย.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัด คือ

1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห

2.อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้ตกใจ

3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า

4.อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร

5.อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ นอกบ้าน ที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ 

ถ้าถูกสุนัข แมว กัด ข่วน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อเช่นเบตาดีน ซึ่งจะช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เร็วที่สุด 

หากสัตว์เลี้ยงมีอาการซึม ไม่กินข้าว แอบอยู่ในที่มืด เห่าหอนผิดปกติ หรือพบเห็นสัตว์ที่มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า อย่าเข้าไปใกล้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชน หรือหากเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ให้ขังไว้ 14 วันหากสัตว์เลี้ยงตายให้สงสัยว่าใช่ ขอให้ส่งหัวสัตว์เลี้ยงไปตรวจ ในพื้นที่กทม.ส่งที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ