ไม่พบผลการค้นหา
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งหนังสือขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน-คลินิก-ร้านขายยาช่วยเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้เลือดออก ไม่ให้ยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน แนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ที่ในเดือนสิงหาคม มักพบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงขึ้น เกือบร้อยละ 50 เป็นนักเรียน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ภาวะอ้วน เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด

ส่วนใหญ่ซื้อยามารับประทานเอง เมื่อมีอาการหนักแล้วจึงไปโรงพยาบาล ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูง จึงให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน คลินิกและร้านขายยาทั่วประเทศให้ระวังการจ่ายยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ทั้งยารับประทานและยาฉีด แก่ผู้ที่มีไข้ และช่วยเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ขอให้ส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษา ลดอัตราการเสียชีวิต

พร้อมขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับโรงเรียน วัด ศาสนสถานในพื้นที่เร่งสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งยังพบว่ายังมีค่าสูงอยู่ และรณรงค์ให้ประชาชน ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน ซึ่งเป็นวิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุด

โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพราะมียุงลายเป็นพาหะทั้ง 3 โรค โดย 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง และ3.เก็บน้ำ สำรวจและปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายวางไข่  

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 38.5 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ มักมีหน้าแดง เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีผื่นแดง มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ขอให้เช็ดตัว และกินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน ยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบรูโพรเฟน เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน ระคายกระเพาะอาหารทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 จะมีอาการรุนแรง อาจมีภาวะช็อก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อาการดีขึ้นใน 2-3 วัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม – 7 สิงหาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก 41,094 ราย เสียชีวิต 48 ราย สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 48


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :