ไม่พบผลการค้นหา
ทุกฝ่ายเห็นพ้อง 'ปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์' สนช.เดินหน้า คาดปี 2562 แล้วเสร็จชง คสช. ออก ม.44

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช. และ กมธ. การสาธารณสุข จัดสัมมนาเรื่อง "สนช.ปลดล็อกกัญชาเป็นยารักษาโรค" โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. และผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ พร้อมทั้งมาตรการควบคุม มี สนช.ลงชื่อสนับสนุน 44 คน

นายพรเพชร กล่าวว่า กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 เป็นอุปสรรคต่อการค้นคว้าวิจัย ซึ่งงานเหล่านั้นพบว่า สามารถใช้ทางการแพทย์ได้ จึงมีข้อเรียกร้องว่า ถ้ายังไม่ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดให้โทษ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ สนช.เห็นว่า ถ้าแก้กฎหมายยาเสพติด โดยเฉพาะปลดล็อกกัญชาก็สามารถทำได้ แต่ยังต้องใช้เวลา ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อไป 

นายสมชาย กล่าวว่า การจะไปถึงกัญชาเพื่อสันทนาการยังคงต้องรออีกสักระยะ สนช.ขอนับหนึงที่การใช้เพื่อการแพทย์ก่อน ที่ สนช.เข้าชื่อเสนอ 44 คน ก็เพราะมีช่อง 3 ทางคือ (1.) ใช้อำนาจ ม.44 (2.) แก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด และ (3.ฉ แก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2552 ในประเภทที่ 5 เฉพาะในส่วนของกัญชาและกระท่อม และ สนช. เสนอทำในส่วนนี้ก่อน แล้วค่อยไปใส่ในประมวลกฎหมายยาเสพติดที่กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขต่อไป ถ้าเสนอร่างกฎหมายวาระแรกรับหลักการได้ในเดือน พ.ย. ก็จะใช้เวลาวาระ 2 ในชั้น กมธ. 2 เดือน กฎหมายจึงน่าจะผ่านการพิจารณา สนช.ในช่วงปีใหม่ 2562 เป็นของขวัญได้ 

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากัญชาไม่สามารถปลดล็อกจากประเภทที่ 5 ได้ ส่วนหนึ่งส่งผลให้นักโทษล้นคุกกว่า 3 เท่าอย่างไม่จำเป็น ก็มีความคิดที่จะแก้ไขกฎหมายยาเสพติด ในต่างประเทศ ก็มีแคนาดา ที่ปลดล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ต่อจากประเทศอุรุกวัย ในสหรัฐฯ รัฐหลักก็เริ่มปลดล็อกให้ใช้ทางการแพทย์ แต่ของประเทศไทยต้องเริ่มจากทางการแพทย์เท่านั้นก่อน ไม่ใช่เพื่อสันทนาการที่หากใช้มากจะทำให้หลอน

จากนั้นจึงเปิดให้ตัวแ��นจากแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมสัมมนา เริ่มจาก นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ ที่ปรึกษาสำนักงานป.ป.ส. ด้านพืชเสพติด กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี การกำหนดพื้นที่ไม่จำเป็นต้องตรา พ.ร.ฎ. เพราะการปลูกใช้เวลาแค่ 3-6 เดือน หากรอคงไม่ได้ทำ อยากให้ปรับเป็นกฎกระทรวง คำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ส. ให้อ่อนตัวทำได้ง่ายกว่า 

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การสกัดสารสำคัญออกไปใช้ แต่ยังมีลำต้นหรือส่วนอื่นที่นำไปใช้ได้อีก เช่น เมล็ดสกัดน้ำมันแล้ว กากของเมล็ดก็ยังสามารถไปทำอย่างอื่นได้อีก ในส่วนของ ป.ป.ส. พร้อม มีฐานข้อมูลตามระบบ GIS อยู่ ที่จะทำให้เห็นว่า ใครจะใช้อยู่พื้นที่ไหนบ้าง แต่ละพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกไหม เพื่อดูความเป็นไปได้ แนวทางการลงทะเบียนหากทำได้ให้รีบทำก่อน จะได้มีความชัดเจน 

"ส่วนกระท่อม ควรปลดล็อกอย่างยิ่ง เพราะเป็นไม้ยืนต้น ปลูกในน้ำได้ 10 ปีก็สามารถขายไม้ได้ หากทำได้จะเป็นไม้เศรษฐกิจของป่าชุมชน กลายเป็น Buffer Zone ของสึนามิได้ด้วย อยากยืนยัน สำนักงาน ป.ป.ส.มีศักยภาพพอ ในการนำข้อมูลมาใส่ในแผนที่เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และจัดระบบต่อไป" ที่ปรึกษา ป.ป.ส. กล่าว



แพทย์ ชี้ กัญชามีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า อยากให้เข้าใจตรงกันก่อนว่ากำลังทำอะไรอยู่ มองแต่กระท่อมกัญชาเป็นยาเสพติดอย่างเดียว จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในฐานะอายุรแพทย์และหมอสมอง อยากให้ประชาชนเข้าใจว่า ยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่มีประสิทธิภาพจำกัด ทั้งการรักษาและชะลอโรค มีขีดจำกัดในการคุมอาการและการบรรเทา มีผลข้างเคียงเยอะ แต่การใช้น้ำมันกัญชาหยดแค่ 1-2 หยด ก็จะบรรเทาได้ ไม่ต้องใช้ยาแรงถึงมอร์ฟีน

"อีกทั้งในประเด็นของยุทธศาสตร์ชาติ นี่คือการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพราะยาที่ใช้ทุกวันนี้ เข้าถึงยาก ยามะเร็งที่ใช้กันอยู่เป็นยามุ่งเป้า ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปีอยู่ที่ 1.2 ล้านบาท ซึ่งงานวิจัยในปีล่าสุดก็มีข้อหักล้างแล้วว่า ไม่มีผลต่อเด็กจริง" นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ด้าน พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภาและนายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ต้องสร้างนวัตกรรมบนฐานทรัพยากรของเราที่เป็นฐานการผลิตของ Sativa L ซึ่งมีสต็อกอยู่ อันมีข้อดีกว่าจำพวก hybrid หากทำให้ดีไทยจะเป็นประเทศที่มีความสำคัญของโลกนี้ได้ รัฐสามารถกำกับได้ในทุกกระบวนการ จะทำให้มีผลในการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วย 

"สิ่งที่ต้องให้ดีคือ ผลเสีย ต้องศึกษาตัวแปรที่เรายังไม่รู้ เพื่อให้ก้าวนำโลก ตอนนี้เรารู้แค่สาร THC กับ CBD ซึ่งยังมีสารอีก 70 ตัว สามารถพัฒนาตำรับที่ดีกว่าที่อื่นด้วย ทั้งยังเห็นด้วยว่า กัญชาคือสมุนไพรที่รักษาโรค ต้องยกระดับให้ได้ไม่จำเพาะแค่การแพทย์ แต่จะเป็นทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งส่งผลต่อการเป็น Medical Hub การตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อยากให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ดี" พ.ญ.อรพรรณ์กล่าว 

ข่าวที่ีเกี่ยวข้อง: