แม้ภาพคุ้นชินของกัญชาคือ การแอบเสพ เพื่อความเคลิบเคลิ้มกันตามที่ลับตา แต่ปัจจุบันกระแสการผ่อนปรนกฎหมาย ‘พืชสายเขียว’ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งคนบางกลุ่มในไทยเองก็เล็งเห็นเช่นเดียวกันว่า กัญชามาพร้อมโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจ และทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นพืชที่ขึ้นง่าย ราคาถูก และว่ากันว่าสามารถรักษาโรคร้ายอย่าง ‘มะเร็ง’ สาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย แต่ความชัดเจนเรื่องการ ‘ปลดล็อค’ กฎหมายกัญชาไทยยังอยู่ในดงควัน
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2561 ฝ่ายวิจัย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนา “เมื่อปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด: ปัญหา หรือโอกาส ของสังคมไทย” เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงสถานการณ์กัญชาทางการแพทย์ และความกังวลเรื่องการปลดล็อคกัญชาออกจากรายการยาเสพติด
คมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้เสนอประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งจะปลดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 แต่คิวการพิจารณาน่าจะอยู่ช่วงปลายปี 2563 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ทำหน้าที่พิจารณาอาจหมดวาระลงหลังการเลือกตั้ง จึงเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวอาจไม่ผ่านการพิจารณา และต้องรอรัฐบาลเลือกตั้งหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คมสันเสนอแนวทางที่ดำเนินการได้เร็วกว่าคือ การแก้ไขกฎหมายเฉพาะบางมาตรา แต่อาจมีปัญหากับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติพันธุ์พืช การแก้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอาจทำให้เกิดการผูกขาดการขายเมล็ดพันธุ์จากบริษัทนายทุนรายใหญ่ และทำให้เมล็ดพันธุ์พื้นเมืองหายไปได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันมี 3 บริษัทญี่ปุ่นยื่นขอสิทธิบัตรการใช้กัญชา เพื่อรักษาโรคลมชักกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผ่านขั้นตอนการพิจารณาแล้ว เหลือเพียงการประกาศประชาพิจารณ์ให้โต้แย้งคัดค้านคำขอ แต่ก็ไม่มีใครสามารถโต้แย้งคัดค้านได้ เพราะไม่มีใครวิจัยเรื่องกัญชาแล้วสามารถจดสิทธิบัตรในเมืองไทยได้
สิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นทำคือ จดสิทธิบัตรในประเทศอังกฤษ แล้วอาศัยสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่มีหลักการว่า หากจดสิทธิบัตรในประเทศใดแล้ว สามารถนำคำขอไปใช้ในประเทศภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาได้ จึงเกรงว่าสุดท้ายแล้วใครทำเรื่องกัญชาก็ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพราะมีบริษัทอื่นจดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายการลักลอบใช้กัญชาจะไม่ได้ผิดกฎหมายเรื่องยาเสพติด แต่ผิดพระราชบัญญัติสิทธิบัตรแทน
คมสันย้ำว่า กลไกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลังการปลดล็อคกัญชาต้องมีความชัดเจน เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์จากบริษัทรายใหญ่ เช่นเดียวกับพืชหลายพันธุ์ รวมถึงการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่างชาติ อีกทั้งต้องพิจารณาด้วยว่า หลังปลดล็อคแล้วกัญชาจะอยู่ในสถานะอะไร เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือเป็นยาเสพติดชนิดที่ใช้ในทางการแพทย์
สำหรับมิติทางด้านประวัติศาสตร์ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทราบจากงานวิจัยของทางอเมริกาว่า ในประวัติศาสตร์ของอเมริกา ช่วงสงครามเวียดนามมีกระแสการต่อต้านสงคราม โดยฝูงชนมักเป็นฮิปปี้ และคนผิวสีที่สูบกัญชา ซึ่งส่งกลิ่นคลุ้งเข้าทำเนียบขาวทุกวัน นิกสันผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนั้นจึงบรรจุกัญชาเข้าไปในบัญชียาเสพติด และประเทศไทยก็รับอิทธิพลมาจากกฎหมายของอเมริกา จึงอาจกล่าวได้ว่า ที่มาของการกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดมาจากอคติ
บัณฑูร นิยมาภา หรือที่ผู้เกี่ยวข้องมักรู้จักกันว่า ลุงตู้ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางแพทย์ชี้ว่า การแพทย์ปัจจุบันมีการใช้ยาเสพติดอยู่หลายแนวทาง ทั้งการใช้เมทาโดน ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท 2 ตามศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อบำบัดผู้ติดยาเสพติด การใช้โซแลม (อัลปราโซแลม) สำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการใช้มอร์ฟีน เพื่อระงับอาการปวด ขณะเดียวกันกัญชาที่มีประโยชน์กลับยังคงผิดกฎหมาย
ลุงตู้เคยเป็นผู้เชื่อว่า การรักษามะเร็งต้องพึ่งเคมีบำบัด หรือฉายแสง แต่หลังจากน้องสาวป่วยเป็นมะเร็งโพรงมดลูก และผ่านการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วไม่หายทว่ากลับดีขึ้นด้วยการใช้น้ำมันกัญชาที่เขาสกัดเองจากการศึกษาในอินเทอร์เน็ตรักษาน้องสาว จนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ปัจจุบัน มีผู้สนใจวิธีการรักษามะเร็งด้วยน้ำมันสกัดจากกัญชาของลุงตู้เป็นจำนวนมาก และเขามองว่ากัญชาเป็นยารักษามะเร็งที่ทำง่าย และได้ผลดี เมื่ออ้างอิงจากประสบการณ์ของตัวเอง และผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ ในขณะที่มะเร็งที่รักษายากที่สุดคือ มะเร็งที่ผ่านการรักษาด้วยเคมีบำบัดมาแล้วต่างหาก
“กัญชาเป็นพืชสมุนไพรไม่ใช่ยาเสพติด ถ้าผมอยากเสพ ผมไม่ต้องออกมาพูดอย่างนี้ก็ได้ แต่ผมต้องการให้คนป่วยใช้” ลุงตู้กล่าวย้ำ และมองว่าโรคเดียวที่กัญชารักษาไม่ได้คือ โรคอคติในจิตใจ
ผู้เข้าร่วมงานเสวนารายหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ว่า เดิมทีมีอาการต่อมลูกหมากโต มีค่า PSA อยู่ที่ 14-15 (ค่าปกติอยู่ในช่วง 4-10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) หลายโรงพยาบาลล้วนแนะนำให้ผ่าตัด แต่เมื่อทดลองหยอดน้ำมันสกัดจากัญชาใต้ลิ้นติดต่อกัน 4 วัน แม้เกิดผลข้างเคียงคือ อาการมึนเมาจนบางครั้งไม่สามารถทรงตัวได้ และเคลือบแคลงว่า กัญชาอาจเป็นโทษ แต่ก็ไม่พบอาการปัสสาวะรดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นอาการของภาวะต่อมลูกหมากโตอีกเลย
จักรภฤต บรรเจิดกิจ ปราชญ์ชาวบ้านผู้สนใจการสกัดกัญชา เพื่อใช้ในทางการแพทย์เสริมข้อมูลว่า อาการเมากัญชาสามารถบรรเทาด้วยการนำใบรางจืดมาซอย แล้วคั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนทำเป็น ‘ชารางจืด’ ช่วยแก้ฤทธิ์เมากัญชา แต่สรรพคุณของยายังคงอยู่
ทั้งนี้ แม้ผู้คนจำนวนมากจะอ้างจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือคนรู้จักว่า กัญชาเป็นยามากสรรพคุณ รักษาโรคได้หลากหลาย เช่น มะเร็ง ลมชัก และพาร์กินสัน แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่มีงานวิจัยของประเทศไทยสามารถยืนยันผลลัพธ์ดังกล่าวได้ เพราะการวิจัยกัญชาประสบปัญหาทางด้านกฎหมายเช่นกัน
คมสันยืนยันปัญหาด้านการวิจัยว่า รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ทำการศึกษาว่า กัญชามีประโยชน์ทางการรักษาอย่างไร มหาวิทยาลัยรังสิตศึกษาวิธีใช้กัญชารักษามะเร็งจนผลิตเป็นยาพ่นได้แล้ว แต่ประสบปัญหาไม่สามารถทดลองในมนุษย์ได้ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย
ทางมหาวิทยาลัยพยายามขออนุญาตปลูกกัญชาในโรงเรือนปิด เพราะจากเดิมรับกัญชาจาก ป.ป.ส. เป็นกัญชาอัดแท่ง ซึ่งเป็นของกลาง และส่งผลให้การผลิตยาคลาดเคลื่อน เพราะกัญชาอัดแท่งมักผ่านการอบยาฆ่าแมลง เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บรักษา ทว่าปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยก็ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาสำหรับการทำวิจัย เพราะรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องยังคงสับสนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่
“การสูบกัญชาทำให้เกิดมะเร็งปอดเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ แต่การเสพกับการรักษาก็เป็นคนละเรื่องกัน และมันกำลังถูกเหมารวม เพื่อสร้างความสับสนให้กับสังคม” คมสันย้ำ