นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกรณีมีข่าวเรื่องราคาอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งปี 2560 ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระอาหารแพง โดยอ้างอิงตัวเลขจากการเก็บราคาเพื่อคำนวณเงินเฟ้อ ซึ่ง สนค. เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่ ว่า จากการเก็บราคาของ สนค. ราคาอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ในรอบ 11 เดือนของปี 2560 นั้นมีบางรายการติดลบ ส่วนรายการที่เพิ่มก็ไม่มีรายการใดที่เพิ่มเกิน 1 บาท ยกเว้นอาหารโทรสั่ง
จากข่าวที่มีการนำเสนอ ได้ระบุถึงราคาอาหารบริโภคในบ้านนอกบ้านที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนมากกว่าร้อยละ 1 ซึ่งนางสาวพิมพ์ชนก ชี้แจงว่า ตัวเลขที่ปรากฏในข่าวเป็นตัวเลขที่เทียบระหว่างราคาของเดือนเดียวกันในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้า ซึ่งจะไม่สะท้อนถึงราคาที่เพิ่มขึ้นแท้จริง หากจะดูว่าราคาอาหารเพิ่มเท่าไหร่ในแต่ละปี ต้องดูที่ตัวเลขรวมเฉลี่ยของปีเป็นช่วง ๆ
เช่น หากดูราคาอาหารบริโภคนอกบ้านเฉลี่ยทั่วประเทศของปี 2560 จนถึงขณะนี้ (มค. - พย.) จะพบว่า ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.17 เมื่อเทียบกับ 11 เดือนในปี 2559 ส่วนราคาอาหารบริโภคในบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13 โดยเมื่อแปลงจากร้อยละมาเป็นราคาที่แท้จริงแล้ว จะพบว่า ราคาอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้านทั้งปี 2560 สูงขึ้นไม่ถึง 1 บาท
ยกเว้นอาหารโทรสั่ง และบางอย่างติดลบ ตัวอย่างเช่น ข้าวราดแกง เพิ่มขึ้น 0.47 บาท (ราคาเฉลี่ยปี 59 คือ 34.16 บาท ปี 60 คือ 34.63 บาท) ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้น 0.16 บาท (34.02/34.18 บาท) ข้าวราดกระเพราหมู เพิ่มขึ้น 0.33 บาท (35.02/35.35 บาท) ไก่ทอด-พิซซ่า ลดลง 0.44 บาท (52.10/51.66 บาท) โจ๊กหมูหรือไก่ใส่ไข่ เพิ่มขึ้น 0.26 บาท (30.20/30.46 บาท) กับข้าวถุง เพิ่มขึ้น 0.41 บาท (31.17/31.58 บาท) เป็นต้น
จากการคำนวณสัดส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ย 12,000 – 62,000 บาท ในซื้ออาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน พบว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 ครัวเรือนใช้เงินเพิ่มขึ้นรวม 18.23 บาท (ประมาณ 6.07 บาทต่อคน) ในการซื้ออาหารไปทานในบ้าน และใช้เงินเพิ่มขึ้นรวม 20.23 บาทต่อครัวเรือน (ประมาณ 6.74 บาทต่อคน) ในการซื้ออาหารทานนอกบ้าน
นางสาวพิมพ์ชนก ย้ำว่า แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้านจะคิดเป็นเงินที่ไม่มากนัก แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้หามาตรการช่วยลดภาระผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตามราคาสินค้าที่กระทรวงกำหนดเป็นรายการควบคุม การรณรงค์แนะนำทางเลือกซื้อสินค้าราคาย่อมเยา แต่มีคุณภาพดี ภายใต้โครงการ “ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้” แนะนำร้านอาหารที่มีราคาถูก แต่มีคุณภาพดี ภายใต้โครงการ “หนูณิชย์พาชิม” ในแต่ละจังหวัด เป็นต้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้แนวทางเพิ่มเติม 2 ประการในการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน โดยจะเพิ่มความเข้มข้นในการใช้กฎหมายมาดูแลราคาสินค้า พร้อมกับจะเพิ่มการแข่งขันในตลาด หาสินค้าให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น โดยจะใช้กลไก “ร้านธงฟ้าประชารัฐ” และสินค้าธงฟ้าประชารัฐ ที่ปกติจะขายโดยมีราคาต่ำกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาดร้อยละ 10-20 มาเป็นอีกตัวเลือก ให้ผู้บริโภคได้จับจ่ายซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำ สำหรับมาตรการเดิม เช่น ร้านหนูณิชย์ ก็จะขยายเครือข่ายร้านค้าที่ได้รับเครื่องหมายให้มากขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ชูเรื่องการดูแลค่าครองชีพของประชาชนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงในปี 2561 นี้