ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ได้ทำการสำรวจราคาอาหารริมทาง หรือ street food จำนวน 20 ร้านค้า ในพื้นที่สีลม-สุรวงศ์ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางธุรกิจและมีคนทำงานในสำนักงานเป็นจำนวนมาก เพราะราคาอาหารข้างทางถือเป็นดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้ริเริ่มจัดทำการสำรวจราคาอาหารในทุกรอบครึ่งปี
โดยที่ผ่านมาได้ทำการสำรวจดำเนินการใน 12 ครั้ง ตั้งแต่ วันที่ 5 พฤษภาคม 2555 มาจนถึง 21 พฤศจิกายน 2560 พบว่าราคาอาหาร เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้นจาก 31.0 บาทในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็น 31.8 บาทในเดือนพฤษภาคม 2556 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มเป็น 34.3 กลายเป็น 36.1 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2557 กลายเป็น 38.4 บาทในเดือนพฤษภาคม 2558 เป็น 40.0 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็น 41.7 ในเดือนพฤษภาคม 2559 เป็น 43.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ในเดือนพฤษภาคม 2560 เป็น 45.7 บาท และในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพิ่มเป็น 47.1 หากคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจะพบว่า ในรอบ 6 เดือนล่าสุด (พฤษภาคม - พฤศจิกายน 2560) ราคาอาหารเพิ่มขึ้นไม่มากนักคือ 3.1% แต่ก็เป็นการปรับตัวสูงขึ้นกว่าภาวะเงินเฟ้อ
เมื่อประเมินจากภาพรวมสะสม 5.5 ปี (พฤษภาคม 2555 - พฤศจิกายน 2560) ราคาเพิ่มจาก 31.0 บาท เป็น 47.1 บาท หรือเพิ่มขึ้น 47.1% และหากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปี ก็เท่ากับเพิ่มขึ้นประมาณ 7.9% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารล่าสุด ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 คือเป็นเวลา 3.5 ปีหลังรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้น 37.4% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 9.5% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมากพอสมควร หากเทียบกับก่อนรัฐประหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555-2557 ปรากฏว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10.7% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5.2% ต่ำกว่าช่วงหลังรัฐประหาร
ประเด็นที่น่าสนใจคือราคาอาหารเพิ่มขึ้น 3.1% ในรอบ 6 เดือนล่าสุด แสดงว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ดร.โสภณมองว่าเกิดจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคืองในปัจจุบัน จะส่งผลต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะต้องใช้จ่ายเงินกับเรื่องชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอาหารมากขึ้น แต่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงยังมีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจอยู่มาก
อย่างไรก็ตามดร.โสภณ แนะนำว่า การที่รัฐบาล คสช. ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ราคาอาหารกลับเพิ่มขึ้น 37.4% ในรอบ 3.5 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ความพยายามอาจจะยังไม่สัมฤทธิผลมากนัก แต่เนื่องจากล่าสุดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมาก ประชาชนทั่วไปต่าง "ชักหน้าไม่ถึงหลัง" ทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาในช่วง 6 เดือนหลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ข้อข้อข้องทางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขต่อไป