ไม่พบผลการค้นหา
'พาณิชย์' ชี้ส่งออก ก.ค. พ้นขีดอันตราย เหลือติดลบ 11.37% คาดทั้งปีส่งออกไม่ติดลบเลข 2 หลัก หลังผ่าน 7 เดือน ส่งออกติดลบ 7.7% นำเข้าติดลบ 14.7% ฟาก 'ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี' ประเมินส่งออกครึ่งปีหลังสินค้ากลุ่มอาหาร ยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ ฟื้นไวสุด

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.ค. 2563 มีมูลค่า 18,819.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 11.37% จากช่วงเดือน พ.ค.และมิ.ย. 2563 ที่มูลค่าอยู่ในระดับ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นการติดลบในอัตราที่น้อยลง เป็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากพ้นจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งติดลบสูงถึง 23.17% 

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,476.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือติดลบ 26.38% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3,343.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยอดรวมการส่งออก 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 133,162.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.72% การนำเข้า 7 เดือนมีมูลค่า 119,118.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 14.69% ส่งผลทั้ง 7 เดือนเกินดุลการค้า 14,044.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้มองว่าการส่งออกกำลังฟื้นตัวขึ้นมาจากการขนส่งที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งเที่ยวบินพาณิชย์ การใช้ท่าเรือขนส่งสินค้า ที่ผ่านจุดต่ำสุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของโลก ทั้งยุโรป เอเชีย เช่น จีนและไทย ฟื้นตัวใกล้เคียงก่อนโควิด-19 ระบาด, ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของโลก (Global New Export Orders) เดือน ก.ค. 2563 อยู่ที่ 46.9 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากเดือน พ.ค. 2563, สัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปตะวันตก และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า การส่งออกเป็นเครื่องหมายถูกแล้ว มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปี ไม่น่าจะติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่น่าจะอยู่ในช่วงลบ 8% หรือลบ 9% โดยหากการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 18,681 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ทั้งปีติดลบ 8% หรือหากทำได้เดือนละ 18,188 ล้านดอลลลาร์สหรัฐฯ จะติดลบ 9% โดยมีปัจจัยที่ต้องระวังและติดตามใกล้ชิด คือ เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการแพร่ระบาดรอบ 2 ความขัดแย้งจากสงครามการค้า ความผันผวนของค่าเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

'ยานยนต์ชิ้นส่วน-ผลิตภัณฑ์เหล็ก-เครื่องแต่งกายเครื่องประดับ' ฟื้นช้าสุด

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าในครึ่งปีหลัง 2563 ว่า จะฟื้นตัวจากกลุ่มสินค้าอาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 3 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวม แนะผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าไปพร้อมกับเสริมศักยภาพการผลิต หาตลาดใหม่เป็นทางเลือก และแนะภาครัฐใช้โอกาสนี้ช่วยเจรจาเปิดตลาดสินค้า อำนวยความสะดวกทางการค้าและเสาะหาตลาด ช่องทางในการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการไทย ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง      

ส่วนในครึ่งปีแรก 2563 สถานการณ์การส่งออกของไทยที่ไม่รวมสินค้ารายการพิเศษ (ทองและอาวุธ) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนถึง 11.9% โดยลดลงมากที่สุดในไตรมาส 2 ถึง 20.9% สาเหตุเกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องมาถึงในครึ่งปีหลัง 2563 แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มจะคลี่คลายในหลายประเทศ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องต่อสู้กับการระบาดอยู่ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของ IMF เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวลงไป 4.9% แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากตลาดจีนที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังการระบาดตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา แต่การส่งออกไทยครึ่งปีหลัง 2563 ก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อน

โดย TMB Analytics ทำการวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 โดยประเมินจากปัจจัยลักษณะสินค้าและทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ ซึ่งได้แก่ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าบริโภค นโยบายปลดล็อกประเทศในโครงสร้างตลาดส่งออก ภาวะตลาดส่งออกก่อนเกิดการระบาด ฯลฯ ซึ่งจากการประเมินแบ่งการฟื้นตัวของการส่งอออกได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มหนึ่ง: สินค้าที่คาดว่าจะเติบโตในช่วงโควิด-19 ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ สินค้ากลุ่มนี้ล้วนเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น ข้าว อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในตลาดได้อีกมาก รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในตลาดจีนที่ฟื้นตัวแล้ว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปัญหาวัตถุดิบที่ถูกกระทบจากภัยแล้งและการแข่งขันสูงในตลาดโลก โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าส่งออกรวม 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 12.7% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

กลุ่มสอง: สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ได้แก่ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร สินค้าในกลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ระดับราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ช่วยพยุงในเรื่องของราคาสินค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกติดลบ 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่าส่งออกรวม 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 61.8% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

กลุ่มสาม: สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปี 2564 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ สินค้ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อที่หดหายจากทั่วโลกกระทบต่อสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อรายได้ เป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งต่างประเทศทำให้เสียเปรียบและเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มถูกผลกระทบจากการกีดกันการค้าทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกติดลบ 24.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าส่งออกรวม 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 25.5% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

จากผลการประเมินแนวโน้มสินค้าส่งออกข้างต้น จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกมีแนวโน้มที่เติบโตและฟื้นตัวในปี 2563 มีสัดส่วนถึง 74.5% หมายถึงว่าผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้ในครึ่งปีหลัง 2563 ทั้งนี้นอกจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สถานการณ์การค้าโลกจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน นโยบายการกีดกันทางการค้า การแข่งขันทางด้านราคาที่จะมีมากขึ้น เมื่อระดับการผลิตของแต่ละประเทศกลับมาเหมือนเดิม รวมไปถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวมากขึ้นเพื่อรักษาตลาด ประคองธุรกิจเพื่อรอการฟื้นตัว เช่น การเสาะหาตลาดใหม่เพื่อลดกระจุกตัวของตลาด การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า การพัฒนาศักยภาพในการผลิต การมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเพิ่มสินค้าใหม่ตามวิถีชีวิตใหม่ (new normal) และสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยภาครัฐสามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพด้านการตลาดให้มากขึ้น ด้วยการหาช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มเติม การประสานงานและเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาดเพิ่ม และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย