ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน วิจารณ์โครงการไทยนิยม (ไม่) ยั่งยืน วอนหยุดรัฐสงเคราะห์ เชื่อทำให้ประชาชนพึ่งตัวเองไม่ได้ ชูรัฐสวัสดิการแก้เหลื่อมล้ำยั่งยืน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เปิดเผยในการแถลงข่าว 'ไทยนิยม (ไม่) ยั่งยืน หยุดรัฐสงเคราะห์ เดินหน้ารัฐสวัสดิการ ประชาชนต้องมีบำนาญถ้วนหน้า' ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า การดูแลประชาชนที่เป็นสวัสดิการโดยรัฐ ไม่อยู่ในแผนของรัฐเลย อีกทั้ง ในแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้ไม่มีเรื่องรัฐสวัสดิการ หรือบำนาญถ้วนหน้า สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่รัฐไม่สนใจดูแลประชาชน มองเพียงว่าเป็นภาระของประเทศ ซึ่งเป็นจุดอันตรายสำคัญของสังคมสูงวัย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่คนในชาติแก่ก่อนรวย ทำให้การใช้ชีวิตยากลำบาก แต่รัฐกลับไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดรัฐสวัสดิการ 

อีกทั้ง ประเทศนี้ยังไม่พร้อมดูแลคน แต่ออกนโยบายประชารัฐ ชวนเชื่อว่ารัฐจะดูแลประชาชน โดยผูกไว้กับการเมือง การเลือกตั้ง ไม่ต่างอะไรกับนโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าต้องเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้เป็นรัฐบาลต่อไป ไม่เช่นนั้นบัตรคนจนอาจหายไป โดยถูกหลอกเรื่องรัฐสวัสดิการผ่านนโยบายที่แอบแฝงหวังคะแนนเสียง ให้คนติดกับดักทางการเมือง ซึ่งนโยบายแบบนี้เป็นการสงเคราะห์ของรัฐ และเมื่อประเทศไม่มีทิศทางในการทำเรื่องรัฐสวัสดิการ การช่วยเหลือเป็นครั้งๆ หรือการเลือกว่าจะให้หรือไม่ให้ใคร ผ่านการใช้วิจารณญาณโดยอำนาจของราชการ ซึ่งไม่มีกลไกกำกับหรือตรวจสอบ เป็นต้นตอของการทุจริตเชิงนโยบาย และตัวเงิน เช่น มีการทุจริตเงินการศึกษาของเด็กมาเป็นเวลา 10 ปี

ดังนั้น ประชาชนต้องลุกขึ้นมาสร้างรัฐสวัสดิการให้ได้ ผ่านการเข้าร่วมกลุ่มกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ หรือร่วมกันตั้งคำถามกับผู้บริหารประเทศ ตัวแทนพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศว่า วาระประเทศที่จะเดินหน้าไปสู่รัฐสวัสดิการจะเป็นอย่างไร โดยต้องเห็นโจทย์นี้ร่วมกัน และหยุดการใช้เงินภาษีประชาชนเป็นเบี้ยหัวแตก ต้องมีทิศทางและมีประสิทธิภาพ

ทางกลุ่มเครือข่ายฯ จะร่วมกันคัดค้านแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนัยยะในการทำลายระบบบัตรทอง ทำลายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แทนที่ด้วยระบบราชการล้าหลังที่ต้องการดึงระบบสวัสดิการให้ถอยหลังเป็นระบบสงเคราะห์

รัฐสวัสดิการสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่การสงเคราะห์ที่มีเงินก็ทำ ไม่มีเงินก็ไม่ทำ

นางนุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวถึงกรณีของการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ว่า นโยบายเช่นนี้ไม่ถือเป็นรัฐสวัสดิการ แต่เป็นการสงเคราะห์และจัดประเภท หมวดหมู่ แบ่งชนชั้นคนเพื่อให้สังคมรู้ว่าคนนี้จน คนนี้มีเงิน ซึ่งการสงเคราะห์ของรัฐทำให้ประชาชนขาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แทนที่จะสนับสนุนรัฐสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว เช่น ด้านการศึกษา สาธารณสุขให้ดีขึ้น หรือเพิ่มการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่ประชาชนควรได้รับ มากกว่าการแจกจ่ายเงินที่เหมือนการหาเสียง หรือประชานิยม โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบ

ดังนั้น จึงเสนอว่า สวัสดิการที่รัฐจะให้ควรเป็นแบบถ้วนหน้า เพราะแนวคิดแบบรับสงเคราะห์นั้นไม่ยั่งยืน คือพอมีเงินก็สงเคราะห์ ไม่มีเงินก็ไม่สงเคราะห์ อันนี้ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนไม่เติบโต พึ่งพาตัวเองไม่ได้ อยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรี เกิดความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะเกิดได้ถ้าให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการทำรัฐสวัสดิการ ไม่ใช้คิดนโยบายมาจากรัฐ

ขณะที่ นางชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้ความเห็นว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืนมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากความยากจน โดยการนำเงินงบประมาณลงชุมชน เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการประชารัฐเดิม แต่ได้มีการประเมินหรือไม่ว่าโครงการนั้นเกิดความยั่งยืนแค่ไหน และจะลดความเหลื่อมล้ำหรือทำให้ประชาชนพ้นจากความยากจนได้อย่างไร 

โครงการไทยนิยมใช้งบประมาณมหาศาล คือ ประมาณ 2 แสนบาท ลงชุมชนกว่า 80,000 แห่งทั่วประเทศ และมีการตั้งคณะกรรมการเกือบ 8,000 คณะ ซึ่งค่าบริหารจัดการโครงการอีกเท่าไหร่ ถึงแม้จะมีการทำเวทีประชาคม แต่เมื่อการรับรู้ของคนในชุมชนไม่ทั่วถึง การมีส่วนร่วมก็ไม่เกิด บางโครงการชาวบ้านไม่ได้รับเงิน จากการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งของ ล้วนซ้ำรอยโครงการเดิมๆ แบบนี้แก้ปัญหาความยากจนได้ไหม ยั่งยืนแค่ไหน คุณภาพของประชาชนจะดีขึ้นอย่างไร

ดังนั้น ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เสนอว่า รัฐสามารถนำเอางบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนเช่นนี้ลงไปในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือทำเรื่องบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้กับผู้สูงอายุทุกคน ให้พ้นจากเส้นความยากจน หรือส่งเสริมเรื่องการศึกษา ซึ่งหากทำเช่นนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐสวัสดิการ เงินจะถึงประชาชนจริง และเกิดประโยชน์จริง พร้อมหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านกองทุนละ 3 แสนบาท

ครม. กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อัดฉีด 'ไทยนิยม' หมู่บ้านละ 2 แสน

ไทยจะเป็นญี่ปุ่นรายต่อไป แต่ไม่ใช่เรื่องดี