ไม่พบผลการค้นหา
The Economist นิตยสารชื่อดัง เตือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังกลายเป็นแบบญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะไทยก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและสังคมสูงวัยตั้งแต่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา

นิตยสารการเมืองและเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง The Economist ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่ากำลังจะกลายเป็นเหมือนประเทศญี่ปุ่น โดยไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ การลงทุนภาคเอกชนต่ำมาก และเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องหลายปี โดยนักวิเคราะห์มองว่าอาการทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเดียวกับญี่ปุ่น โดยไทยมีโครงสร้างประชากรแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยมีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีประชากรสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยอมรับเองว่าภายในปี 2022 ไทยจะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วประเทศแรกในโลกที่มีสังคมสูงวัย โดยประชากรกว่าร้อยละ 14 มีอายุมากกว่า 65 ปี หมายความว่าไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยมากกว่าจีนเสียอีก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จับตามองว่าจีนจะเผชิญภาวะสังคมสูงวัย แก่ก่อนโต และทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาอย่างหนัก

ด้วยเหตุนี้ The Economist จึงถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้แรงงานที่จะมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้ และทำให้ประเทศมีรายได้มากพอที่จะนำภาษีมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้สูงวัยเหล่านี้

สินเชื่อคนแก่.....สำหรับชีวิตหลังเกษียณ

อย่างไรก็ตาม The Economist กลับแสดงความผิดหวังที่ไทยยังคงมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ไม่ต่างกับที่ญี่ปุ่นเคยทำผิดพลาดมาแล้ว นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2015 ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย และมีการเสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้ประชาชนเคยชินกับการปล่อยเงินกู้ง่ายดายเกินไป ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของธปท. ที่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งยุคนั้นเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงจนทำให้กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ จนธปท.เลือกเดินนโยบายอนุรักษ์นิยมทางการเงิน ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาและค่าเงินเป็นหลัก

เศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอีกเรื่องที่ต้องกังวล จนอาจทำให้ไม่กล้ามีนโยบายเชิงรุกมากนักในทางการเงินการคลัง นั่นก็คือการตกเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีว่าทำการค้าเอาเปรียบสหรัฐฯหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีข้อที่เข้าข่ายถึง 3 ประการคือการมีดุลการค้าเกินดุลสหรัฐฯถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี การมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาก และการมีทุนสำรองระหว่างประเทศปริมาณมาก แต่ The Economist กลับมองว่าไทยเล็กเกินกว่าจะได้รับความสนใจจากสหรัฐฯในเรื่องนี้

อีกประเด็นที่ไทยกำลังเข้าใกล้ญี่ปุ่นมากขึ้นทุกที และไม่ใช่เรื่องดีนัก ก็คือการไม่อดทนต่อผู้อพยพ โดยปีที่ผ่านมา รัฐบาลเพิ่งออกกฎหมายควบคุมแรงงงานต่างด้าว โดยมองว่าคนเหล่านี้เข้ามาแย่งงานคนในประเทศ ทั้งที่นี่คือพลังที่จะเข้ามาเป็นฐานการผลิต แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนจากภาวะสังคมสูงวัย ไทยยังหวังที่จะพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา รายได้จากนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.7 สามารถชดเชยกับความต้องการในประเทศที่ถดถอยได้ แต่โดยรวม The Economist ยังมองว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยจะไม่สดใสนัก

ที่มา: The Next Japan Is Not China But Thailand