ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นโจทย์ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ฐานร่วมกันเป็นกบฏ หลังศาลพิเคราะห์ว่าการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นการกระทำความผิด แต่จำเลยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 คุ้มครอง
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ให้ 'ยกฟ้อง' คดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย 'พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ' กับพวกรวม 15 คน เป็นโจทก์ฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช., พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
โดยนายอานนท์ นำภา หนึ่งในโจทก์ยื่นฟ้อง กล่าวภายหลังเข้ารับฟังคำตัดสินว่า ถึงแม้ว่าศาลไม่ได้รับฟ้อง แต่การที่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกันถือเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ร่วมกันของสังคมไทย ที่ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้นำการรัฐประหารครั้งนี้ได้ และอาจทำให้เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง
"ไม่ว่าคำตัดสินครั้งนี้จะเป็นอย่างไร แต่ในอีก 10 ปี หรือ 20 ปี เราสามารถรอที่จะเห็นผู้นำการก่อรัฐประหารถูกดำเนินคดีได้" นายอานนท์ กล่าว
ส่วนการยกเลิกผลพวงรัฐประหาร ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปจะอีก 10-20 ปี ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับก็รอได้ แต่ต้องทำให้คนในสังคมไทยเห็นตรงกันก่อนว่า 'รัฐประหาร' สร้างความเสียหายให้ประเทศ เหมือนกับหลายประเทศที่สามารถเอาผู้นำเผด็จการในอดีตมาลงโทษ
นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และสนับสนุนนักการเมืองที่ยึดมั่นประชาธิปไตย เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ รวมทั้งผลพวงอื่นๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน
ทั้งนี้ มาตรา 113 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง