ไม่พบผลการค้นหา
พลเมืองโต้กลับเดินสายเชิญทูตประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113

จากการที่ "พลเมืองโต้กลับ" โดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพและพวกรวม 15 คน มีนายอานนท์ นำภา เป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รวม 5 คน ประกอบด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดังกล่าว ในวันที่ 22 มิ.ย. 2561 เวลา 09.30 น. ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ซึ่ง “พลเมืองโต้กลับ”พิจารณาเห็นว่าคำพิพากษาจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ กับไทย จึงได้ส่งจดหมายเรียนเชิญ เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยของประเทศต่างๆ หรือตัวแทน เข้าร่วมสังเกตการณ์รับฟังคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวเพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น

“แต่เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับหลายประเทศ เราจึงไม่สามารถไปเรียนเชิญเอกอัครราชทูต หรือตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ได้ครบ เราจึงเลือกจากลักษณะพิเศษของประเทศนั้น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยทางใดทางหนึ่ง เช่น ญี่ปุ่นและอิตาลี ซึ่งมีพลเมืองเสียชีวิตจากการมาทำข่าวการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านเผด็จการจากเหตุการณ์กวางจู ประเทศอินโดนีเซีย ที่สามารถจำกัดและแยกกองทัพออกจากการเมืองได้ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีกระบวนการปรองดองสมานฉันท์โดยนำบทเรียนจากแอฟริกาใต้มาให้ไทยได้เรียนรู้ หรือประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว 

โดยพลเมืองโต้กลับจะเดินทางไปมอบจดหมายเชิญด้วยตนเอง ในวันนี้ (19 มิ.ย.) ให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว และเตรียมที่จะมีกิจกรรมเสวนาในประเด็นนี้ในสองสามวันถัดไป ซึ่งรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง