ไม่พบผลการค้นหา
ชาวโรฮิงญายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้แทนสหประชาชาติที่ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ ขอความเป็นธรรม และยืนยันว่าพวกเขาต้องการกลับบ้านเกิดอย่างปลอดภัย

ผู้แทนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เดินทางไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ค่ายในเมืองค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ ก่อนที่จะไปเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการในวันนี้ (30 เมษายน) โดยชาวโรฮิงญาจำนวนมากได้เข้ามาบอกเล่าประสบการณ์โดยตรงต่อคณะทูตกลุ่มประเทศสมาชิก UNSC ทั้งการถูกรุมข่มขืน การสังหารหมู่ เผาหมู��บ้าน และการถูกทหารเมียนมาไล่ยิงเพื่อบังคับให้พวกเขาออกจากพื้นที่ของตัวเอง โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มีข้อเรียกร้อง 2 ประการต่อ UNSC คือพวกเขาต้องการความเป็นธรรม และต้องการกลับบ้านเกิดในรัฐยะไข่อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี 

ในการเยี่ยมเยียนผู้ลี้ภัยโรฮิงญาครั้งนี้ คณะผู้แทน UNSC ได้เดินทางไปเยือนทั้งพื้นที่ตรงกลางระหว่างพรมแดนบังกลาเทศและเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และมีชาวโรฮิงญาหลายพันคนอาศัยอยู่ ไม่สามารถกลับไปยังบ้านเกิดได้ และยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังบังกลาเทศ จากนั้นจึงได้เดินทางไปยังค่ายกูตูปาลอง ค่ายใหญ่ในเขตบังกลาเทศที่ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนพักอาศัยอยู่

AP18119335523357.jpg

ชาวโรฮิงญาในค่ายกูตูปาลอง เข้าแถวรอรับคณะผู้แทนสหประชาชาติ โดยชูป้ายข้อความเรียกร้องความเป็นธรรม และขอกลับบ้านอย่างปลอดภัย

คาเรน เพียร์ซ เอกอัคคราชทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้แทน UNSC ยอมรับว่าการเยี่ยมผู้ลี้ภัยในค่ายครั้งนี้ ทำให้สหประชาชาติได้เห็นความหนักหนาสาหัสของวิกฤตโรฮิงญา และความจำเป็นที่ต้องเร่งหาทางให้คนเหล่านี้ได้กลับบ้านโดยเร็วที่สุด แต่เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ในตอนนี้สหประชาชาติยังไม่สามารถหาทางทำให้ความทุกข์ยากของชาวโรฮิงญาบรรเทาเบาบางลงได้ นอกจากนี้ เพียร์ซยังชื่นชมรัฐบาลบังกลาเทศที่ยอมรับผู้ลี้ภัยจำนวนเกือบล้านคนไว้ ซึ่งถือเป็นการช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาจำนวนมาก และเรียกร้องให้นานาชาติส่งความช่วยเหลือให้กับบังกลาเทศ โดยเฉพาะในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึง ที่พายุฝนน่าจะสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับเพิงพักชั่วคราวของผู้ลี้ภัย

AP18119332008139.jpg

ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาและบังกลาเทศ มีข้อตกลงร่วมกันในการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับเมียนมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่กระบวนการส่งกลับก็ล่าช้า และที่สำคัญ รัฐบาลเมียนมายังไม่สามารถรับรองความปลอดภัยให้กับผู้ที่ถูกส่งกลับเข้าไปในพื้นที่ได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีอำนาจควบคุมกองทัพ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทนำในการสังหารและขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากยะไข่

การเดินทางเยือนเมียนมาเป็นเวลา 2 วันของคณะผู้แทน UNSC เป็นความพยายามของนายอองซาน ซูขี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประชาคมระหว่างประเทศ หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญหากับสหประชาชาติจากการปฏิเสธข้อหาลบล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา และยังไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ UN เดินทางเข้าไปสังเกตการณ์และส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่คนในพื้นที่ยะไข่ 

อย่างไรก็ตาม นานาชาติไม่เชื่อมั่นว่าการเดินทางเยือนเมียนมาของคณะผู้แทน UNSC จะก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมใดๆในการแก้ปัญหาโรฮิงญา ในเมื่อพันธมิตรของเมียนมาอย่างรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นชาติสมาชิกถาวรใน UNSC ยืนกรานที่จะไม่ให้ UNSC มีมาตรการใดๆที่รุนแรงเพื่อตอบโต้รัฐบาลเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตรหรือการนำเรื่องขึ้นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ