ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนการออมแห่งชาติ ทบทวนแก้กฎหมายเล็งเพิ่มเงินสมทบ - ขยายช่วงอายุสมาชิกเพื่อจูงใจการออม

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเพื่อทบทวนการแก้ไขกฎหมายของ กอช. เรื่องการขยายอัตราการจ่ายเงินสะสมของรัฐบาล จากปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 1.32 หมื่นบาทต่อปี และจ่ายสมทบของสมาชิก รวมถึงการขยายช่วงอายุในการสมัครสมาชิก เป็นเริ่มต้นตั้งแต่ 7-63 ปี จากเดิมอยู่ที่ 15-60 ปี เพื่อให้มีแรงจูงใจในการออมเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในปีนี้

ปัจจุบัน กอช.มีสมาชิกทั้งสิ้น 5.64 แสนคน โดยสมาชิกอายุตั้งแต่ 15-30 ปี สัดส่วน 6.1%, สมาชิกอายุ 30-50 ปี สัดส่วน 42.3%, สมาชิกอายุ 50-60 ปี สัดส่วน 37.1% และสมาชิกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วน 14.6%

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้ยังตั้งเป้าหมายสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ได้ 1 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกอยู่ที่ 5.64 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมา กอช.ได้พยายามเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการออมของสมาชิกให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้คือการสนับสนุนพฤติกรรมและวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มีรายได้เพียงพอรองรับการดำรงชีวิตในช่วงเกษียณ และเพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประชากรมีอายุเพิ่มสูงขึ้น

"ปีนี้ตั้งเป้าหมายให้มีสมาชิก กอช.ที่ 1 ล้านคน แต่ถ้าท้ายที่สุดจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ไม่เป็นอะไร เพียงแต่ให้มีอัตราสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็พอ เพราะเรื่องการออมต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้ และทำความเข้าใจ ต้องบ่มเพาะ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมให้เกิดการออมตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งการออมผ่าน กอช. เริ่มต้นที่อายุ 15 ปี เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ" นายวิสุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากแนวโน้มอายุประชากรที่เพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นประเด็นที่ท้าทายของรัฐบาลในการทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สมาชิก กอช.มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย โดยรัฐบาลมีการผลักดันเรื่องการออมผ่านทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคบังคับ และสมัครใจ เช่น แรงงานในระบบสามารถออมผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งมีผลประโยชน์ตอบแทนตายตัว, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นการออมในภาคราชการ มีผลประโยชน์ไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับเงินที่สมาชิกสมทบ และดอกผลที่เกิดจากการลงทุน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการออมภาคสมัครใจ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กอช.

โดยปัจจุบันมีแรงงานทั้งสิ้น 43 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประมาณ 16 ล้านคน และเป็นแรงงานนอกระบบประมาณ 27 ล้านคน ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างให้เพื่อให้แรงงานที่อยู่นอกระบบเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ และเป็นสมาชิกของ กอช. มากที่สุด

อย่างไรก็ดี ล่าสุด กอช.ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสามารถดำเนินการด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ กรอกข้อมูลรายละเอียดของการสมัคร พร้อมส่งเงินสะสมงวดแรก รวมทั้งเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เป็นสมาชิก กอช. สามารถส่งเงินสะสมงวดถัดไปได้ต่อเนื่อง เพียงเข้าระบบบริการสมาชิกในแอพพลิเคชั่น กอช. เลือกเมนู ส่งเงินสะสม แล้วกรอกข้อมูล โดยสมาชิกที่มีบัญชีเงินฝากของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย และติดตั้งแอปพลิชัน KTB netbank หรือมีบัญชีเงินฝากของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และติดตั้งแอปพลิเคชัน K PLUS สามารถเลือกวิธีการส่งเงินสะสมแบบหักผ่าน KTB netbank, K PLUS ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.61 เป็นต้นไป