ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ-กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน-จ่าย-เติมเงิน เมื่อทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ไทยพาณิชย์นำร่องเจ้าแรกตั้งแต่ 26 มี.ค. ตามมาด้วยกสิกรไทย-กรุงเทพ ฟากธนาคารกรุงไทย ใจยังไม่ป้ำพอ ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมถึงสิ้นปีนี้ก่อน

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารได้พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งช่องทางบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ 'บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง' ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และช่องทางบริการทางอินเทอร์เน็ต 'บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง' สำหรับลูกค้าที่นิยมทำธุรกรรมโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารแบบทันที หรือโอนเงินพร้อมเพย์ ชำระบิลค่าสินค้าและบริการ และบริการเติมเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ ธนาคารยังได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเอทีเอ็มถอนเงินข้ามเขตและโอนเงินข้ามเขตจากบัญชีภายในธนาคาร และโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1 -30 เม.ย. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกและมอบเป็นของขวัญให้กับลูกค้าผู้ถือบัตรธนาคารกรุงเทพที่ทำธุรกรรมผ่านตู้บัวหลวงเอทีเอ็มในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

"บริการทางการเงินที่หลากหลายผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นบริการที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าและมีการขยายตัวอย่างสูงในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงินทำให้ธนาคารเร่งพัฒนารูปแบบการให้บริการธนาคารดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน อีกทั้งเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ภาครัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็ว" นางปรัศนี กล่าว

ธ.กสิกรไทย 'ยกเลิกเก็บค่าฟี' โอน เติม จ่าย 4 ผ่าน 4 บริการช่องทางดิจิทัล

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ 'National e-Payment' พร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ส่งผลให้มีการทำธุรกรรมโดยผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่ง่าย สะดวก และปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้วยคิวอาร์ โค้ด เห็นได้จากตัวเลขของธนาคารกสิกรไทยที่มีจำนวนร้านค้ารับคิวอาร์ โค้ด มากกว่า 1 ล้านร้านค้า และมีปริมาณธุรกรรมในไตรมาสแรกของปีนี้กว่า 1,500 ล้านบาท  

ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทย จึงประกาศ 'ยกเลิกค่าธรรมเนียม' สำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการที่ใช้บริการช่องทางดิจิทัล 4 ช่องทาง ได้แก่ K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME ซึ่งลูกค้านิยมใช้บริการมากที่สุดในธุรกรรม เช่น โอนข้ามเขต/ข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงิน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บริการ 'โอน เติม จ่าย' ผ่าน 4 ช่องทางดังกล่าว มีจำนวนฐานลูกค้ากว่า 14.5 ล้านราย และมีแนวโน้มปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะกระตุ้นให้มีปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดที่ลดลงในระยะยาว ช่วยลดต้นทุนให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับส่วนรวม ร้านค้า และลูกค้าที่ใช้บริการ 

ธนาคารจึงตั้งเป้าว่า การงดค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะทำให้มีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านรายการ ภายในกลางปีนี้

ไทยพาณิชย์ ยกเลิกค่าฟี 5 ธุรกรรมยอดฮิต เมื่อใช้ผ่านแอปฯ SCB EASY

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารยังเดินหน้ายุทธศาสตร์ "Going Upside Down" (กลับหัวตีลังกา ตามวิสัยทัศน์ ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (The Most Admired Bank) ด้วยการทำให้ธนาคารเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุมที่สุด ด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ ดีขึ้น-เร็วขึ้น-ถูกขึ้น 

ล่าสุด ธนาคารได้เปิดตัวแนวคิดทางการตลาดใหม่ "SCB EASY Freenomenon" สานต่อแนวคิด "แฮปปี้ ทรานแซคชั่น" (Happy Transaction) สร้างความรู้สึกดีๆ ในทุกครั้งที่ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY ด้วยการ "ยกเลิกค่าธรรมเนียม" เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY ใน 5 ธุรกรรมยอดฮิต ได้แก่ โอนข้ามเขต, โอนต่างธนาคาร, เติมเงินต่างๆ, จ่ายบิล และกดเงินโดยไม่ใช้บัตรข้ามเขต ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เป็นต้นไป 

จากก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ส่งบริการ SCB Connect บน LINE แพลตฟอร์มที่ช่วยแจ้งเตือนทุกความเคลื่อนไหวของบัญชี ทุกรายรับ รายจ่าย ฟรีตั้งแต่บาทแรก ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าของธนาคารอย่างดี มียอดผู้ใช้งานเกือบ 2 ล้านราย 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธุรกรรมการเงินทั้ง 5 รายการผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY จะมีเงื่อนไขการเก็บค่าธรรมเนียม แต่หลังวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา จะยกเลิกค่าธรรมเนียมทั้งหมด เช่น การโอนเงินข้ามเขตธนาคาร ปกติจะฟรีค่าธรรมเนียมเพียง 5 รายการต่อเดือน ต่อบัญชี และรายการต่อไป รายการละ 10 บาท การโอนเงินไปบัญชีต่างธนาคาร ปกติจะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 25 สำหรับการโอนตั้งแต่ 0 - 20,000 บาท รายการละ 35 บาทสำหรับการโอนมากกว่า 20,000 - 50,000 บาท การเติมเงิน (Top-up) ต่างๆ เช่น การเติมเงินโทรศัพท์ระบบเติมเงิน กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) การเติมเงินอีซี่พาส (Easy Pass) หรืออื่นๆ ที่โดยปกติจะมีค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างร้านค้า การจ่ายบิล เช่น การจ่ายบิลค่าบัตรเครดิต ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าภาษี ที่โดยปกติจะมีค่าธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างร้านค้าเช่นเดียวกัน และการกดเงินโดยไม่ใช้บัตรข้ามเขตธนาคาร ซึ่งบริการใหม่ล่าสุด โดยปกติจะมีค่าธรรมเนียม 25 บาทต่อรายการ หากเป็นการกดเงินสดผ่านบัตร ATM ข้ามเขตธนาคาร 

อีกทั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่า จะสามารถเพิ่มจำนวนการดาวน์โหลดและยอดผู้ใช้งานแอปลิเคชัน SCB EASY กว่า 10 ล้านรายภายในปีนี้ 

กรุงไทย 'งดค่าฟี' โอน - จ่าย -เติมเงิน ผ่าน KTB netbank ถึงสิ้นปี 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. เป็นต้นไป ธนาคารกรุงไทยจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที รวมถึงจ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน KTB netbank จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และผลักดันสู่สังคมไร้เงินสด

"ธนาคารกรุงไทยยึดมั่นในบทบาทธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยต้นทุนที่ต่ำอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ส่วนการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในครั้งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการของธนาคารตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวและรู้สึกยินดีที่ธนาคารใหญ่ๆ ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนสังคมไร้เงินสด โดยการลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์แบงกิ้งด้วยเช่นกัน" นายผยง กล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ได้สนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาคเศรษฐกิจพื้นฐาน โดยมุ่งลดภาระต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนทั่วไป โดยคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อย (MRR) ในอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ เพียงร้อยละ 7.12 ต่อปี 

เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย National e-Payment อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการสนับสนุนการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนกว่า 11 ล้านใบ สนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยในทุกพื้นที่ได้รับเงินสวัสดิการรวมกว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน และจากการติดตั้งเครื่อง EDC ร้านธงฟ้าประชารัฐ ทุกอำเภอทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นร้านค้า และล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ติดตั้ง EDC พร้อมบริการสแกน QR ที่หน่วยงานราชการเกือบ 7,200 จุดทั่วประเทศ พร้อมออกบัตร 'กรุงไทยพร้อมจ่าย' ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับประชาชนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถใช้บริการรับจ่ายเงินกับหน่วยงานราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 

ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่าน KTB netbank ในครั้งนี้ จะช่วยให้ปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่งผลเชิงบวกต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของลูกค้าและในภาพรวมของประเทศ