ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนสมัชชาคนจนประมาณ 40 คน จาก 10 จังหวัด ยื่นข้อเสนอผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ เรียกร้องรัฐควบคุมยกเลิกการใช้สารพาราควอตในภาคเกษตร ขอราคาดีเซลลิตรละไม่เกิน 20 บาท ย้ำหยุดทำลายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่พาคนไทยล้มละลายเพราะป่วยไข้ ขอรัฐดูแลแรงงาน อย่าเน้นแค่ส่งเสริมการลงทุนด้านเดียว

นายบุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน เปิดเผยว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ตัวแทนสมัชชาคนจนเข้ามายื่นเอกสารเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปัญหาของสมาชิกใน 5 ประเด็น หลังจากคณะกรรมการบริหารสมัชชาคนจนมีมติหลังรัฐประหาร เมื่อเดือน พ.ค. 2557 ไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลคณะรัฐประหาร 

โดยวันนี้ (17 ก.ค.) มีสมาชิกของสมัชชาฯ ประมาณ 40 คน จาก 10 จังหวัด อาทิ จ.บึงกาฬ, จ.ระยอง, จ.ชลบุรี, จ.ตรัง, จ.นครสวรรค์ เป็นต้น ยื่นข้อเสนอ 5 เรื่องที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ในประเด็น 1) ให้รัฐควบคุมและยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการเกษตร และเร่งส่งเสริมแนวทางเกษตรทดแทนการใช้สารเคมีเป็นพิษ 2)ให้รัฐควบคุมดูแลราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้น 3) ให้หยุดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน 4) ให้รัฐบาลควบคุมดูและและบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาการเลิกจ้างและยุติการละเมิดสิทธิแรงงาน และ 5) ให้รัฐบาลดูแลให้คนงานได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม


สมัชชาคนจน-บุญยืน สุขใหม่

(บุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน)

อย่างไรก็ตาม นายบุญยืน ย้ำว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้เร่งแก้ไข คือ เรื่องราคาน้ำมัน เพราะปัจจุบันมีน้ำมันและเชื้อเพลิงมีราคาสูง เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนด้านการเกษตรให้สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้เกษตรกรเดือดร้อน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต่อมาคือปัญหาแรงงาน เพราะในขณะที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนจำนวนมาก แต่กลับปล่อยปละให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานสูงมาก รวมถึงเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่ต้องการให้กลับไปใช้ระบบให้ประชาชนร่วมจ่ายหรือจ่ายฝ่ายเดียว เพราะจะมีโอกาสให้คนป่วยล่มสลายหรือต้องขายทรัพย์สินรักษาตัวเองสูงมาก ในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลมีราคาสูง 

"ความจริงเราให้ความสำคัญทุกประเด็น ที่เสนอวันนี้ แต่เบื้องต้นอยากให้มองภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม เพราะทุกครัวเรือนใช้เหมือนกันหมด และหลังจากนี้ เราจะติดตามผลการแก้ปัญหา ซึ่งหากไม่คืบหน้าก็จะมาติดตามผลแน่นอน" นายบุญยืน กล่าว

จี้รัฐควบคุม-ยกเลิกการใช้พาราควอต เน้นส่งเสริมทำการผลิตแบบเกษตรนิเวศ

นายแผ้ว เขียวดำ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน กล่าวระหว่างอ่านแถลงการณ์เรื่อง 'รัฐต้องควบคุมและยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการเกษตรและเร่งส่งเสริมแนวทางการเกษตรทดแทนการใช้สารเคมีเป็นพิษ' ว่า หนึ่ง รัฐจะต้องควบคุมการใช้ การนำเข้าสารเคมีด้านการเกษตร พร้อมยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรที่เป็นพิษ โดยเฉพาะสารพาราควอต ซึ่งมีพิษภัยร้ายแรง และต้องคำนึงถึงผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลประโยชน์ของบรรษัทเคมีเกษตร ตามแถลงการณ์ของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561


สมัชชาคนจน-แผ้ว เขียวดำ-พาราควอต

(แผ้ว เขียวดำ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน)

สอง รัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องเร่งศึกษาหาแนวทางการทำเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ เพื่อทดแทนการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีเป็นพิษต่อชาวนาชาวไร่รายย่อย ต่อผู้ผลิตทางการเกษตร ต่อผู้บริโภค ต่อชุมชนและต่อระบบนิเวศ

สาม รัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ชาวนาชาวไร่รายย่อยทำการผลิตแบบเกษตรนิเวศ เพื่อมุ่งไปสู่อธิปไตยทางอาหารและปกป้องสิทธิเกษตรกร

สี่ รัฐต้องไม่ปล่อยให้ระบบอาหารและการเกษตรของประเทศ ตกอยู่ในการควบคุมหรือผูกขาดของบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจการเกษตร ตามระบบการค้าเสรี

ขอรัฐคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกินลิตรละ 20 บาท ก๊าซหุงต้มไม่เกิน 350 บาทต่อถัง

น.ส.รัชนี สิทธิรัตน์ สมาชิกสมัชชาคนจน กล่าวว่า ปัญหาราคาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเดือนร้อนของประชาชนหลายมิติ ทั้งเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าขนส่ง การเดินทาง ทำให้ค่าครองชีพในสังคมปัจจุบันพุ่งสูงขึ้น ขณะที่รายได้ที่แท้จริงของประชาชนลดลง

ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้อง 2 เรื่อง ได้แก่ รัฐต้องเข้ามาควบคุมดูแลปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริง โดยขอให้มีราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 20 บาท และ รัฐต้องควบคุมราคาก๊าซหุงต้มในครัวเรือนไม่เกิน 350 บาทต่อถัง (15 กิโลกรัม)


สมัชชาคนจน-รัชนี สิทธิรัตน์-ราคาน้ำมัน-ค่าครองชีพ

(รัชนี สิทธิรัตน์ สมาชิกสมัชชาคนจน)

ค้านแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังเลือกตั้งทั่วไปแล้วค่อยคุย

นายประสิทธิ์ จิตรา สมาชิกสมัชชาคนจน กล่าวว่า เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เคยพูดถึงเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิบัตรทอง เป็นผลจากประชานิยม และทำให้เป็นภาระที่ต้องหางบประมาณเพิ่ม หรือ ขอให้ประชาชนร่วมกันรับผิดชอบและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ดำเนินการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีของรัฐบาลไม่เพิ่มขึ้น

กระทั่งรัฐบาล ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นมาแก้ไขในประเด็น เช่น ลดสัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มาจากภาคประชาชน การให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น


สมัชชาคนจน-ประสิทธิ์ จิตรา-หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า-บัตรทอง

(ประสิทธิ์ จิตรา สมาชิกสมัชชาคนจน)

"การกระทำที่บิดเบือนต่อเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายดังกล่าว เป็นความพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมและตรวจสอบจากประชาชน ทำให้ชาวบ้านเสียสิทธิที่เคยได้รับ และยังผลักภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษากลับมาที่ชาวบ้าน อันอาจทำให้ปัญหาการล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นในอดีตกลับมาอีกครั้ง" นายประสิทธิ์ กล่าว

ดังนั้น สมัชชาคนจน จึงขอคัดค้านกระทำใดๆ อันนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ทำให้ผิดต่อเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว และหากมีการแก้ไขกฎหมาย ขอให้รอมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ

เร่งรัฐดูแลสิทธิแรงงาน อย่าเน้นเพียงส่งเสริมการลงทุน

นายนฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย หรือ GMTH จ.ระยอง กล่าวว่า นับตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ทำให้ประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างมาก จนรัฐต้องออกนโยบายสนับสนุนนักลงทุนแบบทุกด้าน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้นักลงทุนละเมิดสิทธิแรงงานได้ง่ายขึ้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถเข้ามาควบคุมดูแลหรือบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทันสถานการณ์

ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น และต้องเผชิญปัญหาแต่เพียงลำพัง โดยเฉพาะในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา มีแรงงานในระบบถูกเลิกจ้างเฉลี่ยกว่า 146,000 คน จากแรงงานในระบบประมาณ 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.35 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2561 โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดการพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานกับสถานประกอบการ และปัญหาการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี นำเครื่องจักรมาแทนแรงงานคน การปลดพนักงานที่มีอายุงานมาก เงินเดือนสูง เป็นต้น


สมัชชาคนจน-นฤพนธ์ มีเหมือน-ประธาน-สหภาพแรงงานเจเนอรัล มอเตอร์-GM

(นฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย)

"ในรอบปีที่ผ่านมา มีการปลดพนักงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดกว่าแสนคน และจำนวนกว่าครึ่งไม่สามารถหางานใหม่ได้" นายนฤพนธ์ กล่าว

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน มิให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมกับให้รัฐบาลส่งเสริมสิทธิการรวมกลุ่มกันเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ควบคุมนักลงทุนให้เคารพซึ่งหลักจรรยาบรรณทางการค้า ควบคุมนักลงทุนจัดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงได้รับสิทธิเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการโดยเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ และรัฐต้องคุ้มครองเยียวยาผู้ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ชงรัฐบังคับใช้กฎหมายเก็บเงินสะสมเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่น้อยกว่า 5%


สมัชชาคนจน-วรกานต์ ขันตี-แรงงาน

(วรกานต์ ขันตี เลขานุุการสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย)

ขณะที่ น.ส.วรกานต์ ขันตี เลขานุุการสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย (GMTH) จ.ระยอง กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาค่าจ้างที่เป็นธรรม แก่มนุษย์แรงงาน ตามสโลแกน "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เพราะหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีการปรับขึ้นค่าจ้างเพียง 2 ครั้ง และครั้งล่าสุด ปรับในสัดส่วนไม่เท่ากันคือจังหวัดที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 308 บาท และสูงสุด 330 บาท ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับราคาสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพของคนงานทั้งในระบบและนอกระบบที่มีกว่า 40 ล้านคน

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา 4 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และปรับเพิ่มขึ้นตามอายุงานสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 20 สอง ให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ สาม ให้รัฐบาลกำหนดโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทเอกชน เช่นเดียวกับโครงสร้างเงินเดือนของราชการ และ สี่ ทุกครั้งที่มีการประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้รัฐบาลประกาศปรับส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างทุกคน


สมัชชาคนจน-ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :