ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียนใน กมธ.งบประมาณ 2564 แถลงว่า ในการประชุมอนุ กมธ. ซึ่งพิจารณาของหน่วยงานกองทัพเรือ ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ การเสนอของบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 2 ลำ มูลค่าลำละ 11,250 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 22,550 ล้านบาท ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือที่มาชี้แจงยืนยันว่าจะต้องจัดซื้อเรือดำเนินภายในปีงบประมาณ 2564 เพื่อความมั่นคงทางทะเล อย่างไรก็ตามอนุ กมธ.ในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน โต้แย้งและขอให้จัดซื้อในงบประมาณปีถัดไป เพราะขณะนี้ประชาชนมีภาวะยากลำบากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ทางกองทัพเรือยืนยันต้องจัดซื้อ อย่างไรก็ดีการจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวในปี 2563 ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลของบคืนเพื่อไปแก้ปัญหาโควิด-19
“ในการชี้แจงของหน่วยงาน ได้นำเอ็มโอยูที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามเมื่อการจัดซื้อเรือดำนำลำแรก มาแสดงต่อที่ประชุม ขณะที่การจัดซื้อลำที่ 2 และลำที่ 3 ที่เสนอขอไม่มีรายละเอียดใดๆ อย่างไรก็ตามการพิจารณาทางกมธ.ทั้ง 10 คน ต้องลงมติเพื่อตัดสิน ผลปรากฎว่าอนุ กมธ. ที่มาจากฟากฝ่ายค้านแพ้”ยุทธพงศ์ กล่าว
ยุทธพงศ์กล่าวว่า ในการลงมตินั้น เสียงเห็นด้วยให้จัดซื้อมี 4 เสียง ขณะที่เสียงไม่เห็นด้วยในตัวแทนฝ่ายค้าน 4 เสียง ทำให้ สุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลงคะแนนเพื่อตัดสิน ทำให้เสียงเห็นด้วยให้ซื้อชนะไป ซึ่งตนขอฟ้องประชาชนให้ติดตามการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีความจำเป็น แต่ต้องซื้อในภาวะที่ประชาชนมีชีวิตยากลำบาก
ขณะครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ฐานะอนุ กมธ. แถลงด้วยว่า อนุ กมธ.เสียงข้างน้อย จะสงวนความเห็นเพื่อไปพิจารณาในวาระสองต่อไป อย่างไรก็ตามอนุกมธ. ฝ่ายค้านไม่ใช่ไม่เห็นด้วยให้จัดซื้อ แต่ในสถานการณ์ภาวะประเทศมีวิกฤตควรชะลอไปก่อน หากสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว จะซื้อ 4-5 ลำ ย่อมทำได้เพื่อความมั่นคงทางการทหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอนุกรรมาธิการที่เห็นชอบให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำในงบประมาณปี 2564 ได้แก่
1. จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ
2. ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
3. กรณิต งามสุคนธ์รัตนา ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ
4. ชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย
ขณะที่อนุกรรมาธิการที่ไม่ชอบเห็นให้จัดซื้อเรือดำน้ำ ได้แก่
1.ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
2.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย
3.นพ.หมอเรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย
4.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล
ในข้อบังคับ เมื่อผลโหวตนั้นเสมอ ทำให้ สุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานต้องใช้สิทธิร่วมโหวต โดยสุพลโหวตเห็นชอบให้ซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ขณะที่ ดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ที่เป็นอนุกรรมาธิการ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม