คณะประชาชนปลดแอก โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ในยามที่ประเทศกำลังหาทางออกในด้านเศรษฐกิจมาอย่างสะบักบอม จีดีพีอยู่ในระดับติดลบ 12-13% กลับมีงบประมาณในการซื้อเรือดำน้ำที่ถูกผ่านโดยเหล่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่ได้มองไปยังเหล่าประชาชนที่กำลังอดอยาก ขัดสน เเละกระเสือกกระสนเพื่อมีชีวิตรอด สะท้อนให้เห็นว่า เหล่า ส.ส.ฝั่งรัฐบาลไม่ได้มีความคิดใดๆ ยึดโยงกับประชาชนเลย เเละชี้ให้เห็นว่า กองทัพทหารก็ไม่ได้คำนึงต่อชาติตามที่เคยเอ่ยปากพูดไว้จริงๆ เพราะชาติคือประชาชน
"เงินจำนวน 2.2 หมื่นล้านนั้น สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นที่ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ อิ่มท้องมากกว่านี้ เเต่กลับต้องนำไปซื้อเรือดำน้ำเพื่อสนองความต้องการของคนไม่กี่คน ซึ่งในความเป็นจริงเเล้ว ในสัญญาก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องซื้อในงบประมาณประจำปี 2564 ดังนั้น นี่จึงเป็นการผ่านงบที่ไร้ประโยชน์ที่สุดในช่วงเวลานี้ ท้ายที่สุดนี้ขอให้ประชาชนจดจำวินาทีที่เหล่า ส.ส.ผู้รับใช้เผด็จการ ยกมือผ่านงบฯ นี้ไว้ให้ดี เเล้วเราจะได้เห็นดีกันในวันเลือกตั้งครั้งหน้า"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียนใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่เห็นชอบให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำในงบประมาณปี 2564 ได้แก่
1. จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ
2. ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
3. กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ
4. ชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย
ขณะที่อนุกรรมาธิการที่ไม่ชอบเห็นให้จัดซื้อเรือดำน้ำ ได้แก่
1.ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
2.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย
3.นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย
4.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล
ในข้อบังคับการประชุม เมื่อผลโหวตนั้นเสมอ ทำให้ สุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานต้องใช้สิทธิร่วมโหวต โดยสุพลโหวตเห็นชอบให้ซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ขณะที่ ดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ที่เป็นอนุกรรมาธิการ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม