ไม่พบผลการค้นหา
'แอมเนสตี้' ร้อง ก.ยุติธรรม ต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายทุกมาตรา มอง ตร.อ้างอุปกรณ์ไม่พร้อมไม่สมเหตุสมผล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้บังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 คัดค้านการออกพระราชกำหนดเลื่อนบางมาตราออกไป

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ติดตามความคืบหน้าของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่จะมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้มาโดยตลอด เเต่การชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่มีการผลักดันมามากกว่า 10 ปี และถือเป็นกฎหมายสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ประกาศการใช้พระราชบัญญัติทั้งฉบับโดยไม่มีการยกเว้นบางมาตรา เพื่อทำตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) อีกทั้ง ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคล ทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอื่นๆ (OP-CAT)

2.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวงเพื่อให้การ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเป็นไปตามกฎหมาย ติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้ง ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และโดยเร็วที่สุด

3.การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทำความเข้าใจกับสังคมในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของประชาชน

แอมเนสตี้.jpg


“สมยศ” ลั่น เลื่อน พ.ร.บ.อุ้มหาย ประชาชน 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ระบุว่า ตนเองเคยถูกจับกุมล่ามโซ่จากการเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 และตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่ถูกกล่าวหา การเลื่อนออกไปครั้งนี้อ้างถึงความไม่พร้อมของตำรวจ ส่วนตัวมองว่าไม่สมเหตุสมผล จะมาอ้างว่าไม่มีอุปกรณ์ไม่ได้ พร้อมตั้งคำถามว่าตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่กับการทรมานการอุ้มหายที่เกิดขึ้นในอดีตผ่านที่ผ่านมา ทั้งหมดทุกหน่วยงานมีความพร้อมในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะอัยการสูงสุดที่ประกาศออกมาว่าพร้อม แต่ทำไมตำรวจจึงไม่พร้อม และตั้งคำถามว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รู้เห็นกับกรณีการออกพระราชกำหนดนี้หรือไม่


แม่ “สยาม ธีรวุฒิ” ขอ อย่าเลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย 

กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สูญหาย ระบุว่า รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ได้โปรดช่วยเหลืออย่าละเลยสูญเสียลูกชายหวั่นใจทุกวันนอนไม่หลับ เห็นใจผู้สูญเสียและผู้เสียหายประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่มีแค่นายสยามคนเดียวแต่มีอีกหลายคน 


ก.ยุติธรรม ยืนยัน พ.ร.บ.ป้องกันพร้อมทรมาน บังคับใช้ 22 ก.พ. เว้นแค่บางมาตรา 

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระบุว่า ขอบคุณภาคประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนให้การออกพระราชบัญญัติตัวนี้มานานกว่า 10 ปีกว่าจะได้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ สิ่งที่ภาคประชาชนสะท้อนอยู่ในหัวใจของกระทรวงยุติธรรมจะนำหนังสือเสนอต่อท่านรัฐมนตรี

พร้อมระบุอีกว่า ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับแต่ยกเลิกใช้บางมาตราเท่านั้น คือมาตรา 22-25 เป็นเรื่องของการบันทึกภาพของตำรวจและฝ่ายปกครองที่มีอำนาจเข้าไปจับ แต่มาตราอื่นบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ตามปกติ ส่วนมาตราที่เลื่อนออกไปนั้นเป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของกล้องบันทึกภาพ ส่วนตัวหวังว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม ตามที่พระราชกำหนดเลื่อนออกไป จะมีความพร้อม

ทั้งนี้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ โดยให้ขยายกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้ของมาตรา 22-25 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญ ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 66 นั้น มีรายละเอียดดังนี้

มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว

มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว

มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน