อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการเลื่อนบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ (14 ก.พ. 66) เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป (จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้ นั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานหลักที่เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีข้อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมและควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องไว้ตลอดเวลาจนส่งพนักงานสอบสวน ที่ต้องเก็บไฟล์ภาพและเสียงไว้ตลอดจนคดีกว่าคดีจะขาดอายุความ จึงต้องมีแหล่งจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งมาตรา 22 ในเรื่องการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมตัวผู้ต้องหา และควบคุมตัวโดยผู้ที่จับกุม ไม่ใช่เฉพาะแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้ที่ไปดำเนินการควบคุมตัว ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนส่งพนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ ในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ ตามที่ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณนั้น จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนกว่าจะได้รับอุปกรณ์มาแจกจ่าย จึงเป็นเหตุผลที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว (ส่วนมาตราอื่น ๆ ยังใช้เหมือนเดิม) แต่ถ้าไม่เลื่อนอาจจะเกิดความเสียหายในด้านคดีความได้ และอาชญากรจะนำมาเป็นประโยชน์ต่อตนเองเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี เพราะจะต้องมีการบันทึกภาพไว้ตลอดตั้งแต่การจับกุมและควบคุมตัว จนไปถึงการส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งในวันนี้ยังไม่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบที่เป็นหัวใจสำคัญ ของ พ.ร.บ.นี้ รวมถึงทุกหน่วยงานของรัฐอื่นก็มีข้ออุปสรรคในลักษณะเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การออก พ.ร.ก. เรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องทางฝ่ายการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ได้ร้องขอโดยแท้ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องอุปกรณ์การบันทึกภาพและเสียง อุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงระบบในการจัดเก็บ การดาวน์โหลดข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากในแต่ละวันตำรวจมีการเผชิญเหตุ และจับกุมผู้กระทำความผิดทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก มีกำลังพลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ต่ำกว่า 150,000 นาย ทั้งฝ่ายป้องกันปราบปราม สืบสวน จราจร ฝ่ายควบคุมฝูงชน สอบสวน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งหน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่และเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดได้กว้างขวางครอบคลุมแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่าหน่วยงานอื่น และยังมีหน่วยราชการที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอีกหลายหน่วย ที่ยังไม่ชัดเจนในความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน
อนุชา กล่าวต่อไปว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงด้วยว่า ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้ต้องมีการส่งข้อมูลให้กับผู้รับแจ้ง คือ พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองในทันทีด้วย ซึ่งการทำงานจะต้องมีการจัดตั้งเป็นระบบประสานส่งต่อกัน กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน และควรมีการซักซ้อมการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวอย่างครบถ้วน หากบังคับใช้ทันที โดยไม่เลื่อน อาจจะเกิดความเสียหายในวงกว้าง หากเร่งรีบบังคับใช้อาจจะเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของรัฐมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่า การนำกฎหมายออกใช้ ทั้งที่รู้ว่าในขณะนี้หน่วยงานหลักคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่มีความพร้อม จะทำให้การเฝ้าระวังและการเก็บรวบรวมและบันทึกพยานหลักฐานในระหว่างการคบคุมตัวของเจ้าหน้าที่มีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้เป็นประเด็นโต้แย้งในชั้นการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ส่งผลให้การจับมิชอบ การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคมและความปลอดภัยสาธารณะอย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รอความพร้อมดังกล่าวข้างต้น ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิได้เพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยพยายามที่จะดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ เท่าที่จะดำเนินการได้ในขณะนี้ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุม ในข้อหาที่มีอัตราโทษสูง ให้บันทึกภาพและเสียงอยู่แล้ว ตลอดจนเจ้าหน้าที่สายตรวจ จราจร ที่ตั้งจุดตรวจจะต้องติดตั้งกล้องประจำตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ตั้งจุดตรวจเท่าที่จะสามารถกระทำได้ และกวดขันให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และเพื่อให้เข้าถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังกล่าวอย่างแท้จริง
“ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการเตรียมการและร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและหน่วยราชการต่าง ๆ ขับเคลื่อนการเตรียมการเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นเรื่องของการกำหนดมาตรฐานการทำงานใหม่ มีรายละเอียดการปฏิบัติที่จะต้องออกเป็นระเบียบที่ใช้ร่วมกันของหลายหน่วยงาน รวมทั้งต้องเตรียมการทั้งเรื่องบุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปพร้อมๆ กันหลายประการ ซึ่งระยะเวลาการเตรียมการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ 120 วัน ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการให้มีความพร้อมทุกด้านได้ โดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์การถ่ายภาพและเสียง และอุปกรณ์การจัดเก็บไฟล์ภาพและเสียงไว้ตลอดอายุความ ทั้งนี้ ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น และประชาชนจะได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิและข้อกฎหมายต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม และหลังจากนี้จะมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา ซึ่งกฎหมายใหม่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติงานที่สุจริตจะเป็นเกราะคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี” อนุชา กล่าว