ไม่พบผลการค้นหา
'แอมเนสตี้' เรียกร้องรัฐยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หยุดใช้กฎหมายปิดปากคนเห็นต่าง หลังประชาชนถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,467 ราย

วันที่ 23 ก.ย. 2565 บริเวณด้านหน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตัวแทนนักกิจกรรม นักวิชาการ และสื่อมวลชน ที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมยื่นหนังสือและ 6 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า นับถึงเดือนมิถุนายน 2565 ประเทศไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไปแล้วถึง 19 ครั้ง นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ออกข้อกำหนดตามมาถึง 47 ฉบับ และตลอดระยะเวลา 2 ปีที่มีการประกาศใช้ล่าสุดนี้ มีประชาชนอย่างน้อย 1,467 คนใน 647 คดีที่ถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จึงถือเป็นข้อกล่าวหาที่มีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมมากที่สุด

ด้าน ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะคนที่ถูกดำเนินคดีตามข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่มีการประกาศใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มองว่า ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรต่อประชาชน ไม่มีผลต่อการช่วยป้องกันหรือควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่เพื่อความมั่นคงของคนที่ถืออำนาจรัฐในการกีดกันการแสดงออกของประชาชน และเอื้อต่อการใช้อำนาจของรัฐอย่างไม่มีขีดจำกัด

ด้าน ณัฐพงษ์ มาลี สำนักข่าวราษฎร ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน กล่าวว่า สื่อมวลชนอิสระก็ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการรายงานข่าวที่สามเหลี่ยมดินแดงด้วย ซึ่งรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีต่อสื่อมวลชนที่รัฐอาจมองว่าอยู่ตรงข้าม สะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จึงต้องการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่าง เนื่องจากสื่อมวลชนรายงานข่าวตามความเป็นจริง และขอยืนยันสิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าว

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเห็นว่า การประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการประกาศใช้ข้อบังคับในภาวะฉุกเฉินเกินความจำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง และสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ”

ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล ดังนี้

1. ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยคำนึงถึงความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความเหมาะสมในการจำกัดหรืองดเว้นการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับรองในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights– ICCPR)

2. อนุญาตเเละคุ้มครองให้บุคคลหรือกลุ่มใดๆ สามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมประท้วงโดยสงบได้ในพื้นที่อย่างปลอดภัย รวมถึงรัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เเละประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่นตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

3. ยุติการดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ อันเป็นสิทธิที่พึงมีและได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560

4. ดำเนินการให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนต่างได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรวมทั้งตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำมาลงโทษ

5. ประกันว่ามาตรการทั้งปวงที่นำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเลี่ยงพันธกรณีด้านสิทธิต้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อกำหนดในแง่การให้ข้อมูล ความถูกต้องตามกฎหมาย เเละความจำเป็น รวมถึงกำหนดให้มีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อติดตามและรายงานข้อมูลมาตรการที่นำมาใช้

6. พิจารณาและปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศและหลักความถูกต้องของกฎหมายเพื่อนำมาประกาศใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและรองรับบทบัญญัติที่ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประกันความรับผิดและการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพ