คริสโตเฟอร์ โลแกน โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ แถลงข่าวว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีคำสั่งให้พิจารณายกระดับความร่วมมือทางทหาร ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือของหน่วยนาวิกโยธิน โดยมุ่งเน้นปฏิบัติการตอบโต้ฉับพลัน ทั้งภาวะวิกฤตและสงคราม
ประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้อ้างอิงเพื่อเดินหน้านโยบายทางการทหารในภูมิภาคนี้ คือ การป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและการปกป้องน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งมีความหมายพาดพิงจีนที่สร้างสิ่งปลูกสร้างและแสดงแสนยานุภาพทางการทหารในน่านน้ำอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นข้อพิพาทเรื้อรังระหว่างจีนและอีกหลายประเทศในแถบนี้
แต่ พ.ท.แดเนียล เดวิส นายทหารเกษียณอายุ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศแห่งองค์กร ดีเฟนซ์ ไพรออริตี้ ในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า การมองเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคาม คือ การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว เพื่อกดดันให้คนอเมริกันเห็นว่าการเพิ่มกำลังทหารและการยกระดับความร่วมมือในเอเชียคือสิ่งจำเป็น แต่แนวโน้มที่เกาหลีเหนือจะโจมตีหรือเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้น้อยมาก ส่วนข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ควรแก้ไขโดยวิธีทางการทูต เพราะการใช้กำลังทหารจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องพึ่งพากองทัพสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก และสองประเทศนี้่ต่างแสดงท่าทีสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย
รายงานขององค์กรภาคประชาสังคม Security Assistance ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงและการใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าในปีนี้ รัฐบาลของนายทรัมป์ได้ทุ่มงบประมาณ 18,200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท เพื่อเป็นงบช่วยเหลือทางการทหารแก่ 143 ประเทศทั่วโลก โดยอัฟกานิสถานได้รับงบช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากที่สุด ตามด้วยอิสราเอล อิรัก อียิปต์ และซีเรีย
แต่ประเทศที่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่มากที่สุด คือ ญี่ปุ่น 39,345 นาย/ อันดับ 2 คือ เยอรมนี 34,805 นาย และอันดับ 3 เกาหลีใต้ มีทั้งหมด 23,468 นาย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพิงกองทัพสหรัฐฯ เนื่องจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ประกาศใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกร่างขึ้นโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม และบังคับให้ญี่ปุ่นยอมรับ รธน. ห้ามการพัฒนาศักยภาพทางทหาร ทำให้ญี่ปุ่นมีแต่ 'กองกำลังป้องกันตนเอง'
แต่หลังจากเผชิญกับท่าทีคุกคามของเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่องในยุคที่นายคิมจองอึนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุด ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นสามารถพัฒนาศักยภาพทางทหารและสามารถตอบโต้ด้วยกำลังอาวุธได้ในกรณีที่ต้องปกป้องตัวเองหรือประเทศพันธมิตร แต่ญี่ปุ่นต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ทางทหารอีกระยะหนึ่ง จึงยังจำเป็นต้องอาศัยกองทัพสหรัฐฯ ที่มีความพร้อมในหลายด้านมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ประชาชนญี่ปุ่นในละแวกฐานทัพสหรัฐฯ ไม่พอใจการดำรงอยู่ของทหารอเมริกัน เพราะมีอุบัติเหตุและอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทหารอเมริกันเกิดขึ้นทุกปี รวมถึงคดีข่มขืน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังไม่อาจสรุปข้อตกลงเรื่องการย้ายฐานทัพได้
ส่วนกรณีของเยอรมนี ถือเป็นประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ที่มีบทบาทสำคัญในองค์การนาโต จึงมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เกาหลีใต้ ร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯ มายาวนาน นับตั้งแต่สงครามเกาหลีเมื่อปี 1950-1953 และแม้ว่านายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันจะชูนโยบายการรวมชาติเกาหลีมากกว่าการใช้กำลังทหารตอบโต้ท่าทีคุกคามของเกาหลีเหนือ แต่การไม่อยู่กับร่องกับรอยของผู้นำของคิมจองอึน ทำให้เกาหลีใต้ยังต้องอาศัยอิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ ในการป้องปรามเกาหลีเหนืออยู่
ส่วนไทยเป็นอีกประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพสหรัฐฯ แต่ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโอบามามีการปรับลดความสัมพันธ์และระงับความร่วมมือบางอย่างหลังเกิดรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันพิจารณารื้อฟื้นความสัมพันธ์ด้วยการเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ พลเอกโจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการร่วมแห่งกองทัพสหรัฐฯ เพิ่งเดินทางเยือนไทยเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งย้ำว่า "บทบาทของสหรัฐฯ ไม่เคยเสื่อมถอยลง" เพื่อตอบโต้นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งซึ่งระบุว่ากองทัพจีนเข้ามามีอิทธิพลในไทยเหนือสหรัฐฯ ช่วงหลังรัฐประหาร
ปัจจุบัน ไทยมีทหารอเมริกันประจำการอยู่ประมาณ 289 นาย แต่ก็ถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยปีนี้ไทยได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ รวม 1.87 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 62 ล้านบาท) ซึ่งหลายโครงการความร่วมมือยังถูกระงับไว้อยู่ แต่มี 2 โครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. การส่งเสริมภารกิจป้องกันและต่อต้านการก่อการร้าย 2. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ที่มา: CNBC/ Security Assistance Organization/ Visual Capitalists
อ่านเพิ่มเติม: