ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 6 ปี เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางทหาร หลังอดีตรัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการติดต่อและความร่วมมือระดับสูงทางการทหารนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557

กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวานนี้ (7 ก.พ. 2561) ระบุว่า พล.อ. โจ ดันฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ทั้งยังได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ 

พล.อ.ดันฟอร์ดเป็นนายทหารระดับสูงคนแรกที่มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากอดีตรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา สั่งระงับการติดต่อและความสัมพันธ์ทางการทหารระดับสูงระหว่างสองประเทศชั่วคราว หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทำให้กำหนดการเดินทางเยือนตามปกติถูกเลื่อนออกไป 

จนกระทั่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ส่งสัญญาณว่าต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ โดยเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ เยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ และทำให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามโรดแมปที่วางไว้ การเดินทางเยือนไทยของ พล.อ.ดันฟอร์ด ครั้งนี้ จึงเป็นการตอกย้ำว่า 'ความสัมพันธ์ทางทหาร' ระหว่างไทยและสหรัฐฯ กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

"ความสัมพันธ์ของเราเป็นเรื่องของความมั่นคง" พล.อ.ดันฟอร์ด กล่าวต่อสื่อมวลชนในกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ พร้อมย้ำว่า สหรัฐฯ จะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยในด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และการศึกษา เพื่อให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาค

000_M01JU.jpg

บทบาทสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก 'ไม่เสื่อมถอย'

เดอะวอชิงตันไทม์ส สื่อของสหรัฐฯ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ดันฟอร์ด เพิ่มเติม โดยระบุว่าในสัปดาห์หน้า วันที่ 13 ก.พ. ทหารอเมริกันนับพันนายจะร่วมฝึกซ้อมรบ 'คอบร้าโกลด์' กับทหารไทยและประเทศพันธมิตรอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก "ไม่เคยเสื่อมถอยลง" แม้ว่าที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนมากจะมองว่า 'จีน' เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้แทนสหรัฐฯ 

พล.อ.ดันฟอร์ดระบุว่า การฝึกซ้อมรบ 'คอบร้าโกลด์' ประจำปี 2018 จะมีทหารจากสหรัฐฯ เข้าร่วม 6,800 นาย พร้อมด้วยทหารไทย 4,000 นาย รวมถึงทหารและเจ้าหน้าที่จากอีก 30 ประเทศทั่วโลกที่ รวมทหารจากจีนและอินเดีย จะร่วมฝึกซ้อมและสังเกตการณ์ด้วย และปฏิบัติการครั้งใหญ่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่า ศักยภาพของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ไม่ได้เสื่อมถอยลง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามบิดเบือนให้ร้ายสหรัฐฯ เกิดขึ้น

วอชิงตันไทม์สรายงานด้วยว่า พล.อ.ดันฟอร์ดได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งสื่อต่างประเทศตั้งฉายาว่า 'นายพลโรเล็กซ์' เพราะกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการปิดบังที่มาของนาฬิกาหรู และ พล.อ.ดันฟอร์ดยืนยันว่า การกระชับสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารของไทยเป็นเรื่องจำเป็น เพราะไทยมีบทบาทในการดำเนินการทางทะเลด้านต่างๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งยังเป็นมิตรประเทศที่ดีของสหรัฐฯ มาตลอด

พล.อ.ดันฟอร์ดย้ำว่า ว่าการผนึกกำลังระหว่างสหรัฐฯ และประชาคมโลก ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกรวมอยู่ในการพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

27907358_2036615309939082_773989853_o.jpg

ชูแผนร่วมมือทางทหาร 'ล่วงหน้า 10 ปี'

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า พล.อ.ดันฟอร์ดได้พบกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงด้านกลาโหมของไทยอีกหลายราย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระดับบุคคล และมีการหารือกันว่าจะขับเคลื่อนความร่วมมือระยะยาวอย่างไรต่อไป เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้มองแค่แผนการระยะสั้นเพียง 2, 3 หรือ 5 ปี แต่คิดไปถึงความร่วมมือช่วง 10 ปีต่อจากนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากองทัพของสองประเทศจะปรับความสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ได้

ความร่วมมือระหว่างกองทัพไทย-สหรัฐฯ ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ได้แก่ การขยายโอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรมทางทหาร เพื่อเตรียมความพร้อมให้แต่ละประเทศมีประสบการณ์ในการต่อสู้ร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการสื่อสารระหว่างประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดในกรณีที่มีวิกฤตการณ์ใดๆ เกิดขึ้น

พล.อ.ดันฟอร์ดยังได้ให้ความสนับสนุนต่อรัฐบาลทหารไทย ที่ระบุว่าจะเดินหน้าตามโรดแมปเพื่อกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวกับสื่อมวลชนที่ติดตามไปรายงานข่าวการครบรอบ 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-สหรัฐฯ และครบรอบ 200 ปีที่ไทย-สหรัฐฯ เริ่มต้นความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ ณ สถานทธตสหรัฐฯ วันนี้ (8 ก.พ. 2561) โดยย้ำว่า "จุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่อการเลือกตั้งของไทยยังไม่เปลี่ยน"

โดยก่อนหน้านี้ จิลเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าววอยซ์ออนไลน์เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ว่า จุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่อการเลือกตั้งไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐฯ ยังเชื่อมั่นว่าทางรัฐบาลไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ในปลายปี 2561

อ่านเพิ่มเติม: