ไม่พบผลการค้นหา
รายงานฉบับล่าสุดของยูเอ็นเกี่ยวกับเมียนมาระบุว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาและอาชญากรรมสงครามกลุ่มชาติพันธุ์กับนายพลเมียนมา แต่โอกาสที่จะมีคนได้รับโทษกลับน้อยมาก

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาที่จัดทำขึ้นโดยทีมค้นหาความจริงของสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินคดี 6 นายพลเมียนมาในศาลอาญาระหว่างประเทศหรือตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณานี้โดยเฉพาะ ในข้อหาล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และการก่ออาชญากรรมสงครามต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐกะฉิ่นและรัฐฉาน หลังพบแบบแผนการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่การสังหารหมู่ ข่มขืนหมู่ และเผาหมู่บ้าน

แม้จะมีเสียงเรียกร้องทั่วโลกให้มีการดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในเมียนมา แต่การนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่ายและมีอุปสรรคขัดขวางมากมาย โดยสถานการณ์ในเมียนมาแตกต่างไปจากการดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและยูโกสลาเวีย เพราะต้องได้รับฉันทามติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สำนักข่าว Asian Correspondent ระบุว่า แม้หลายประเทศจะร่วมประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา แต่ที่ผ่านมา จีนมักคัดค้านไม่ให้ชาติตะวันตกเข้าไปแทรกแซงเมียนมา ซึ่งอยู่ติดชายแดนจีน นอกจากนี้ จีนก็ยังมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมา ทำให้จีนมักสงวนท่าทีในการวิพากษ์วิจารณ์เมียนมา โดยล่าสุด จีนเพิ่งออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาว่า นานาชาติไม่ควรทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า จีนจะใช้สิทธิวีโตความพยายามใดๆ ที่จะให้นายพลของเมียนมาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

แม้สหรัฐฯ จะมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนายพลและเจ้าหน้าที่ทหารของเมียนมาอยู่ นายนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ไม่ค่อยมีความเห็นหรือให้ความสำคัญกับวิกฤตความรุนแรงในรัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่น และรัฐฉานมากนัก และยังไม่ค่อยสนใจผลักดันการปฏิรูปประเทศของเมียนมาด้วย

ในขณะที่นายทรัมป์เปิดสงครามการค้ากับจีน และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนในการเจรจากับเกาหลีเหนือ ก็มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามไม่ทำให้จีนรู้สึกโกรธเคืองไปมากกว่านี้

นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังมักแสดงความไม่พอใจองค์ระหว่างประเทศที่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องภายในประเทศของสหรัฐฯ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ ด้วยการแต่งตั้งให้นายจอห์น โบลตัน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่ายต่อต้านศาลอาญาระหว่างประเทศ ขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และร่างคำสั่งประธานาธิบดีให้สหรัฐฯ ถอนความช่วยเหลือจากศาลอาญาระหว่างประเทศ

แม้ยูเอ็นจะได้รับฉันทามติจาก UNSC ในการนำกองทัพเมียนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมบนศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า นายพลเหล่านั้นจะได้รับโทษ เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีกองกำลังเป็นของตัวเอง จึงต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ภายในประเทศในการจับกุมและส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ

ดังนั้น การให้ตำรวจจับกุมส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพของประเทศไปดำเนินคดีที่กรุงเฮกจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมายังคงแก้ต่างให้กับกองทัพเมียนมาอยู่ ขณะเดียวกันอาเซียนก็มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ยากมากที่สมาชิกอาเซียนจะช่วยจับกุมนายพลเหล่านี้ด้วย

หาก UNSC และนานาชาติไม่มีฉันทามติในการนำนายพลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมสงครามในเมียนมามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็จะหมายความว่า นายพลเหล่านี้จะรอดพ้นจากคดีไปได้ง่ายๆ และยังทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าระบบยุติธรรมระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: