ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกเฟซบุ๊กเผย มีการระงับบัญชีของนายทหารเมียนมาและหน้าเพจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเฟซบุ๊ก ผบ.สส. หลังสหประชาชาติเปิดรายงานไต่สวนข้อเท็จจริงการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา พบว่าสื่อเหล่านี้มีส่วนในการเผยแพร่ความเกลียดชัง

เฟซบุ๊กเผยแพร่รายละเอียดการระงับบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 18 ราย หน้าเพจต่างๆ 52 เพจ รวมถึงบัญชีอินสตาแกรม 1 รายที่เชื่อมโยงกับบัญชีเฟซบุ๊กในเมียนมา หลังตรวจสอบพบว่าเฟซบุ๊กเหล่านี้มีส่วนในการเผยแพร่ข้อมูลยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมา

คำชี้แจงของเฟซบุ๊กระบุว่า บัญชีที่ถูกระงับมีทั้งของนายพลและเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงบัญชีเฟซบุ๊กของพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ของกองทัพเมียนมา

ขณะที่ แคลร์ แวร์ริง โฆษกของเฟซบุ๊ก ชี้แจงแก่สำนักข่าวรอยเตอร์ผ่านทางอีเมล ระบุว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวของเฟซบุ๊ก อ้างอิงจากรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาความจริงของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะยื่นฟ้องนายพลระดับสูงของกองทัพเมียนมา ซึ่งรวมถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่ออาชญากรรมสงครามต่อกลุ่มชาติพันธุ์ 

รายงานของยูเอ็นเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันนี้ (27 ส.ค.) หลังจากวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งเริ่มต้นจากกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนชาวโรฮิงญา ก่อเหตุโจมตีด่านตำรวจและค่ายทหารพร้อมกันกว่า 30 จุดในรัฐยะไข่ ทำให้กองทัพ ตำรวจ และประชาชนชาวพุทธในรัฐยะไข่ รวมตัวกันตอบโต้กลุ่ม ARSA

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวพุทธในรัฐยะไข่ได้บุกเผาทำลายบ้านเรือน ทำร้ายร่างกายและข่มขืนประชาชนชาวโรฮิงญาโดยไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้ชาวโรฮิงญาที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ARSA ได้รับผลกระทบ ทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยข้ามแดนไปยังบังกลาเทศกว่า 7 แสนคน และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าการก่อเหตุรุนแรงหลายกรณี เกิดจากคำสั่งของทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมา

มินอ่องหล่ายพบเปรม

(พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ หลังเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ที่ไทยเมื่อ 16 ก.พ. 2561 โดยเป็นภาพจากเฟซบุ๊ก: Senior General Min Aung Hlaing ซึ่งถูกระงับไปแล้ว )

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานว่านายพลระดับสูงและประชาชนเมียนมาใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงเฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือเผยแพร่และยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกลุ่มชาวโรฮิงญาและผู้สนับสนุนชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

ส่วนบัญชีเฟซบุ๊กของนางอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาและหัวหน้าพรรครัฐบาลเอ็นแอลดี ยังไม่ถูกระงับ แม้เนื้อหาในรายงานของยูเอ็นจะชี้ว่าเฟซบุ๊กของอองซานซูจีมีส่วนในการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อชาวโรฮิงญา แต่ยังไม่มีการเรียกร้องให้ดำเนินคดีมุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาบางส่วนของรายงานยูเอ็นระบุว่า อองซานซูจีเพิกเฉยต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ และไม่คิดจะใช้ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล หรือแม้แต่ 'อำนาจทางศีลธรรม' ของเธอในการหยุดยั้งความรุนแรง และการละเมิดสิทธิ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการประณามกองทัพและรัฐบาลเมียนมาที่รุนแรงที่สุดของยูเอ็นนับตั้งแต่มีการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่ สัปดาห์ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่รายงานพิเศษออกมา โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเฟซบุ๊กนั้น 'ล้มเหลว' ในการป้องกันและปราบปรามการเผยแพร่ความเกลียดชังของกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กในเมียนมา เนื่องจากไม่สามารถสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลที่นำไปสู่ความเกลียดชังเหล่านั้นได้ แต่กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความเข้าใจผิดและยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในสังคม

รอยเตอร์ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีเพื่อนหรือผู้ติดตามจำนวนมากในเมียนมา มักจะโพสต์ข้อมูลกล่าวหาและโจมตีชาวมุสลิมโรฮิงญาแบบเหมารวมและไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล รวมเป็นจำนวนกว่า 1,000 โพสต์ในเวลาไม่นาน และข้อความเหล่านั้นถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดยที่เฟซบุ๊กไม่อาจป้องกันหรือยับยั้งได้ทันเวลา 

ที่มา: Facebook/ The Guardian/ Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: