ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทโฆษณาในญี่ปุ่นคัดเลือกนางแบบและนายแบบที่มีความมั่นใจในการเปิดเผยรักแร้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่โฆษณาสินค้า โดยมีค่าตอบแทนรายชั่วโมงสูงสุด 10,000 เยน (ราว 3,000 บาท)

'วะคิโนะ แอด คัมพานี' ซึ่งมีสำนักงานในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ริเริ่มการขายพื้นที่โฆษณาใต้วงแขนของนางแบบและนายแบบให้แก่เจ้าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการโฆษณาดึงดูดความสนใจในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป โดย 'โมโมะ ชิโระตะ' ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโฆษณาวะคิโนะ ระบุว่า "รักแร้นั้นสวยงาม และเราสามารถใช้รักแร้เพื่อความบันเทิงได้ด้วย" 

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวการขายโฆษณาบนรักแร้ของวะคิโนะตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะมีการประกาศรับสมัครนายแบบและนางแบบที่ต้องการร่วมงานกับบริษัท และมีผู้สนใจยื่นใบสมัครร่วมเปิดรักแร้เป็นพื้นที่โฆษณามากกว่า 3,000 รายในเวลาไม่นาน โดยทางวะคิโนะระบุว่า นางแบบ-นายแบบจะมีรายได้จากการเผยแพร่โฆษณาบนรักแร้สูงสุดถึงชั่วโมงละประมาณ 10,000 เยน หรือราว 3,000 บาท 

ธุรกิจโฆษณาใต้วงแขน-รักแร้ขายโฆษณาที่ญี่ปุ่น-underarms ad-3.JPGธุรกิจโฆษณาใต้วงแขน-รักแร้ขายโฆษณาที่ญี่ปุ่น-underarms ad-5.JPG

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรัปลีย์รายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา นางแบบที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้ามารายงานตัวที่บริษัทเพื่อรับการ 'ติดตั้ง' โฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์บนรักแร้ของแต่ละคน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีคลินิกเสริมความงามและผลิตภัณฑ์บำรุงความงามติดต่อขอซื้อพื้นที่โฆษณากับวะคิโนะแล้วอย่างน้อย 2 ราย 

ขั้นตอนในการติดตั้งโฆษณาเริ่มจากการที่นางแบบใช้ผลิตภัณฑ์ถอนขนรักแร้ซึ่งทางบริษัทจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำสติ๊กเกอร์โฆษณาสินค้ามาลอกติดบนรักแร้ ซึ่งบริษัทแม่ของวะคิโนะฯ คือ บริษัทลิเบอร์ตา ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเสริมความงามหลายประเภท รวมถึงน้ำยาและแผ่นกาวกำจัดขนรักแร้ ทำให้สื่อรายงานว่าธุรกิจหลักและธุรกิจรองของบริษัทนี้มีความเกี่ยวโยงและส่งเสริมกันอยู่อย่างชัดเจน

ธุรกิจโฆษณาใต้วงแขน-รักแร้ขายโฆษณาที่ญี่ปุ่น-underarms ad-2.JPG

ทางด้านเว็บไซต์ 'แอดวีค' ซึ่งเป็นสื่อเกี่ยวกับแวดวงโฆษณา รายงานว่า กลยุทธ์โฆษณาบนเรือนร่างของนายแบบและนางแบบไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อปี 2555 บริษัทโฆษณาในญี่ปุ่นได้ขายพื้นที่โฆษณาบริเวณต้นขาของนางแบบจำนวนมาก และเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความนิยมจากเจ้าของสินค้าอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ยังไม่อาจบอกได้ว่ากระแสความนิยมการโฆษณาบนรักแร้จะอยู่ได้อีกนานเท่าใด 

อย่างไรก็ตาม คอลัมนิสต์ของแอดวีคมองว่าการเปิดพื้นที่ใต้วงแขนเพื่อโฆษณาสินค้าอาจเหมาะสมกับวิถีชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นที่ต้องใช้รถไฟฟ้าหรือรถสาธารณะเป็นปกติ และการยกแขนจับราวเพื่อช่วยการทรงตัว เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

http://himecoto.jp/wakinoad/images/sample_img03_pc.jpg

ที่มา: Ad Week/ The Guardian/ Telegraph