ไม่พบผลการค้นหา
กรมสุขภาพจิต จัดทีมเฝ้าระวังเยียวยาใจครอบครัวและญาติที่เฝ้ารอทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คน ที่ยังติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมวางแผนจัดผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตดูแล เมื่อทีมค้นหาพบตัวผู้พลัดหลงอย่างเป็นระบบครบถ้วน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจของครอบครัวและญาติที่เฝ้ารอทีมฟุตบอลหมูป่าและโค้ชรวม 13 คนที่พลัดหลงอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ว่า กรมสุขภาพจิตได้ร่วมทำงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์และโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ จัดทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทดูแลครอบครัวและญาติที่พักอยู่ในเต้นท์บริเวณหน้าถ้ำ ซึ่งมีประมาณ 50-60 คน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายได้ตั้งวอร์รูมด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่โรงพยาบาลแม่สาย ติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อปรับแผนการดูแลให้เหมาะสมทุกวัน โดยเฉพาะการลดสิ่งที่จะกระตุ้นหรือซ้ำเติมรบกวนสภาพจิตใจของญาติ ซึ่งขณะนี้ทุกคนล้วนมีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับอยู่แล้ว เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ ขณะนี้ได้จัดเตรียมแผนความพร้อมในการดูแลสภาวะจิตใจของทีมฟุตบอลทั้ง 13 คนและครอบครัวไว้แล้วหลังจากที่ทีมค้นหาพบตัว โดยมีโรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญจิตใจทั้งผู้ใหญ่ เด็กและวัยรุ่น ร่วมดูแลอย่างดีที่สุด  

“สำหรับสภาพจิตใจของทุกครอบครัวขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีความเครียด วิตกกังวลเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นในภาวะวิกฤต อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องให้การดูแลประคับประคองอย่างใกล้ชิด แต่ทุกคนยังมีขวัญกำลังใจที่ดีและมีความหวัง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว   

ด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเดินทางไปติดตามผลการดำเนินของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทในพื้นที่ และเยี่ยมให้กำลังใจ 13 ครอบครัวของผู้ที่พลัดหลงภายในถ้ำ พบประเด็นที่ต้องระมัดระวังขณะนี้มี 2 เรื่อง ประการแรกคือ การสวดมนต์ซึ่งเป็นสิ่งดี จะสวดด้วยตนเองหรือมีผู้นำสวดก็ได้ แต่ควรเป็นเวลาที่ญาติพร้อมและอยากทำ แต่หากมีผู้มาบังคับหรือชวนให้ทำบ่อยเกินไป นานเกินไปก็จะเป็นการรบกวน  ไม่ได้พักหรือไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่น

ประการที่ 2 คือ การทำพิธีตามความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าทรงหรือการทรงเจ้าเพื่อให้รู้ความเป็นไปของผู้พลัดหลงภายในถ้ำ แม้ว่าจะมีส่วนดีกับฝ่ายที่รอคอยบ้างหากเจ้าเข้าทรงบอกว่าจะปลอดภัย ขณะเดียวกันจะเป็นเรื่องซ้ำเติมความทุกข์ใจหากเจ้าเข้าทรงบอกเป็นเรื่องร้ายหรือใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก การรับรู้ข้อมูลความเป็นไปของทั้ง 13 ชีวิตจากการทรงเจ้า ไม่ใช่ข้อเท็จจริง อีกทั้งยังเสียเวลา เสียทรัพย์สิน ต้องไปแก้ไขตามที่เจ้าเข้าทรงบอก ซึ่งเจ้าเข้าทรงมักจะบอกว่าเด็กทำผิดหรือล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์โน่นนี่นั่น ญาติจะวิตกกังวลสะสมอยู่ในใจ ถึงแม้ว่าจะบวงสรวงหรือแก้บนไปแล้วก็ตาม บางรายจะเกิดปมในใจว่าทำได้ถูกต้องหรือไม่ จึงขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นการทำงานและร่วมกันเป็นกำลังใจให้ทีมค้นหาซึ่งกำลังทำงานกันอย่างเข้มข้นและเป็นกำลังใจให้ครอบครัวและญาติ  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: