ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการศาลยุติธรรม ชี้แจง สร้างบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ ขออนุญาตถูกต้อง ไม่ได้บุกรุกป่า ตอนนี้ยังไม่ได้ยุติการก่อสร้างโดยเตรียมนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสัปดาห์หน้า (9 เม.ย.61)

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงกรณี การสร้างบ้านพักตุลาการ ในจังหวัดเชียงใหม่ หลังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ยืนยันว่า บ้านพักดังกล่าวเป็นทรัพย์สินราชการ ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมีการขออนุญาตใช้ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกรมธนารักษ์ ไม่ได้บุกรุกที่ป่าสงวน หรือตัดต้นไม้ มีการรักษาป่าและต้นไม้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกัน ศาลยุติธรรม มีแนวคิดในการปลูกป่าและต้นไม้เพิ่มเติมในพื้นที่อยู่แล้ว

ส่วนข้อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้าง ต้องพิจารณาอย่างรอบรอบ เนื่องจากหากยุติ คู่สัญญาอาจจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น และจะเกิดความเสียหายต่อภาครัฐ

"ถามว่าที่ผ่านมาเราได้รับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนไหม เราไม่ได้ตอบว่า เราทำถูกกฎหมายอย่างเดียว แต่ว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนให้ความห่วงใย เราก็พร้อมที่จะรับฟัง และรับข้อเสนอแนะต่างๆ" นายสราวุธ กล่าว 

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุถึง การเลือกพื้นที่นี้ก่อสร้างที่พักอาศัย เนื่องจากปัจจุบัน พื้นที่พักอาศัยเหลือน้อย จึงต้องหาที่ราชพัสดุ ซึ่งราชการให้ใช้ได้ และยังอยู่ใกล้สถานที่ทำงาน ลดต้นทุนเรื่องการเดินทาง

ทั้งนี้ การก่อสร้างได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ตั้งแต่ปี 2543 จำนวน 147 ไร่ แต่ใช้จริงเพียง 89 ไร่ งบประมาณรวมกว่า 950 ล้านบาท และวันที่ 9 เมษายนนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการบริหารของศาลยุติธรรม ซึ่งมีเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาด้วย เมื่อได้มติจากที่ประชุมเบื้องต้น จะแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีทราบ และช่วงบ่ายจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง

ขณะที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 สั่งยกเลิกโครงการ พร้อมทั้งคืนพื้นที่และฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณว่า รัฐบาลเห็นใจและเข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่คนในชุมชนรู้สึกหวงแหนและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะนี้ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลังในฐานะที่ดูแลที่ราชพัสดุ กระทรวงทรัพยากรฯ ที่ดูแลป่าไม้ ตลอดจนกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โดยรวม รวมทั้งฝ่ายกฎหมายของ คสช.ไปพูดคุยหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกับฝ่ายตุลาการ และส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณาตัดสินใจต่อไป

“นายกฯ เน้นย้ำว่า เรื่องนี้มีแนวคิดเริ่มต้นมาหลายปีแล้ว และรัฐบาล คสช. ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ แต่เพิ่งมาก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างในช่วงนี้ โดยรัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาและจะพยายามปรับพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิม ทุกฝ่ายจึงต้องหันหน้าพูดคุยกัน ผู้รับเหมาก็น่าเห็นใจเพราะต้องทำตามสัญญาก่อสร้าง"

สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างบ้านพักตุลาการนี้ เดิมเป็นของกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม กองทัพภาคที่ 3 จึงขอใช้สถานที่เพื่อฝึกกำลังพล ต่อมาในปี 2500 กรมที่ดินได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นสล. 394/2500 จำนวน 23,787 ไร่ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมใช้ในราชการ โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้ไปขอขึ้นทะเบียนการใช้ประโยชน์กับกรมธนารักษ์

ปี 2540 สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอแบ่งใช้ประโยชน์พื้นที่บางส่วน และกองทัพบกได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ 143 ไร่ได้ในปี 2547 โดยกองทัพได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ตามแปลงที่ดินนั้นให้กรมธนารักษ์ จากนั้นในปี 2549 กรมธนารักษ์ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าว และต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติของทางราชการ

จากนั้นในปี 2556 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับงบประมาณ จึงเริ่มเปิดพื้นที่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้

อ่านเพิ่มเติม