ไม่พบผลการค้นหา
บีทีเอส ดึงองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมตรวจความโปร่งใส หลัง รฟม.เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่กลับปรับเงื่อนไขผู้ชนะใหม่ เลขาธิการ ACT ชี้ ไม่เคยมีโครงการไหนในประเทศที่เปลี่ยนทีโออาร์ในสาระสำคัญหลังเปิดประมูลไปแล้ว ขณะที่ รฟม. เตรียมชี้แจงข้อเท็จจริง 25 ก.ย.นี้

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่าโครงการกว่า 142,789 ล้านบาท หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดให้มีเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแบบ PPP Net Cost ที่เข้าสู่การขายซองไปแล้ว แต่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้มีมติปรับเกณฑ์การประมูลใหม่ จากเดิมที่ให้ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะได้รับการคัดเลือก เปลี่ยนเป็นให้นำคะแนนเทคนิค 30% มารวมถั่วเฉลี่ยร่วมด้วย

ขณะที่ข้อเสนอด้านราคาให้เหลือคิดคะแนนที่ 70% ซึ่งในจำนวนนี้ 60% เป็นคะแนนราคาสูงสุด แต่อีก 10% เป็นดุลพินิจความเหมาะสมของราคาที่เสนอ

สุรพงษ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแบบนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก เนื่องจากรู้จุดแข็งจุดอ่อนของคู่แข่ง และการตัดสินคะแนนทางเทคนิคก็ไม่มีเกณฑ์อะไรที่ชัดเจน จึงได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 ขอให้ศาลพิจารณากลับมาใช้เกณฑ์ประมูลก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการไต่สวนของศาล

นอกจากนี้ ในขั้นตอนตั้งแต่การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้ ได้มีเอกชนรายหนึ่งเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาใช้เกณฑ์คะแนนด้านเทคนิคร่วมด้วย แต่ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งมีการยื่นหนังสือของเอกชนรายเดิมไปที่ รฟม.เพื่อให้พิจารณาเกณฑ์ดังกล่าวใหม่ และพบว่าหลังจากเปิดขายซองไปแล้วคณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับได้มีการปรับเกณฑ์ตามที่เสนอภายหลัง

"ไม่แน่ใจว่าทางกฎหมายทำได้หรือไม่ แต่ที่เสนอ ครม.ก็เขียนชัดเจนว่าให้ใช้ราคาเป็นเกณฑ์ในการประมูล ซึ่งการมาเปลี่ยนเกณฑ์หลังปิดซองไปแล้ว อาจจะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะการที่จะหาพันธมิตรเพิ่มในตอนนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ลำบาก" สุรพงษ์ กล่าว

ส่วนประเด็นที่ รฟม.ระบุว่า สามารถเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ประมูลได้ ซึ่งมีระบุในรายละเอียดนั้น สุรพงษ์ กล่าวว่า ตามเงื่อนไขในส่วนของ 'การสงวนสิทธิ์' ในข้อที่ 35.2 ระบุเพียงว่า "รฟม. สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลด หรือ ขยายระยะเวลาของการคัดเลือก ตามเอกสารแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม. และมติของคณะรัฐมนตรี" แต่ในส่วนของการปรับเงื่อนไขพบว่ายังไม่มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมถึงการส่งหนังสือให้ รฟม.ชี้แจงการเปลี่ยนเกณฑ์ต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับตอบรับ         

ติงเปลี่ยนกติกาหลังเปิดประมูล ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้าง หากอิงตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การปรับเปลี่ยนกติกาภายหลังการเปิดประมูลไปแล้วไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อต้องยกเลิกทีโออาร์เดิมทั้งหมดและเปิดขายซองใหม่เท่านั้น เพราะการปรับเกณฑ์ภายหลังถือว่าขัดต่อธรรมาภิบาล ทำให้มองได้ว่าเกิดการแข่งขันไม่เสรี ซึ่งจะทำให้ประเทศเสียความเชื่อมั่นจากการลงทุน แต่ในส่วนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ และขาดความชัดเจนอยู่

"แน่นอนว่าถ้าเปิดทีโออาร์แล้ว ก็จะเห็นตัวคู่ชกแล้ว ซึ่งแต่ละรายมีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นผมจะรู้แล้วว่าจะเอาชนะคู่แข่งได้อย่างไร ถ้ามาเปลี่ยนกติกาตอนเปิดหน้าคู่แข่งแล้วถือว่าไม่ยุติธรรม" มานะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีมูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท เทียบการประมูลรถไฟฟ้าที่ผ่านมาถึง 3 โครงการรวมกัน คือ  รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีเขียว และสีม่วง ซึ่งภาครัฐบาลได้ใช้ข้อตกลงคุณธรรมเพื่อมีความโปร่งใส

ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ 25 ก.ย. 2563 รฟม. เตรียมแถลงข่าวชี้แจง เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เวลา 09.30 น. ณ สนง. รฟม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: