ไม่พบผลการค้นหา
รฟม.รายงานผลดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 เผยมีกำไรสุทธิกว่า 2,304 ล้านบาท เบิกเงินลงทุนได้ร้อยละ 99.99 เพิ่มจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วง -สายสีน้ำเงิน (MRT) ทะลุเป้าโตร้อยละ 5 ต่อปี ครม.ตั้ง 'ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย' นั่งประธานบอร์ด พร้อม 5 กรรมการทรงคุณวุฒิใหม่

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. รายงานผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 พร้อมนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคตเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปีงบประมาณ 2561 รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 2,304.39 ล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 710.76 ล้านบาท) 

แบ่งเป็น รายได้ 14,006.69 ล้านบาท (เงินอุดหนุน 8,844.01 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายรวม 11,702.30 ล้านบาท โดยสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 99.99 ขณะที่มีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 142.79 ล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมายร้อยละ 10.90 (เป้าหมาย 160.26 ล้านบาท) และสายฉลองรัชธรรม 33.31 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายร้อยละ 78.80 (เป้าหมาย 18.63 ล้านบาท)

พร้อมกับมีเป้าหมายการให้บริการ โดยให้มีผู้ใช้งานรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สาย MRT) ร้อยละ 69.35 และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ร้อยละ 63.50 ต้องมีความพึงพอใจในระดับมาก -มากที่สุดต่อการให้บริการ และบริการเสริมอื่นๆ และให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5  

ทั้งนี้ ปี 2561 ที่ผ่านมา รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มีผู้โดยสารเฉลี่ย 307,312 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 5.56 ส่วนรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม มีผู้โดยสารเฉลี่ย 46,540 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 78.50 จากเป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 ในแต่ละสาย

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

ส่วนเป้าหมายทางการเงิน รฟม. มีแผนหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่องสำหรับสายเฉลิมรัชมงคล 149.93 ล้านบาท สายฉลองรัชธรรม 34.98 ล้านบาท และมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ร้อยละ 1.26 พร้อมกับมีแผนจะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ต้องพัฒนาบุคลากร ให้ผ่านเกณฑ์ประเมินสมรรถนะร้อยละ 95.83 และมีแผนเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรในระบบราง พัฒนากระบวนการจัดทำและดำเนินกิจกรรมทางการตลาดที่เกี่ยวกับผู้โดยสาร บัตรโดยสาร สังคม รวมถึงประชาชน 

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งผลักดันระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมิภาค ในพื้นที่ 3 จังหวัด สำคัญ ได้แก่ ภูเก็ต, เชียงใหม่ และนครราชสีมา โดยให้ ภูเก็ต ให้ รฟม.ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ให้เป็นไปตามแผน เชียงใหม่ ให้ รฟม. เร่งดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ และนครราชสีมา ให้ รฟม. เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

เกาะติดความคืบหน้าการก่อสร้าง 5 เส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการดำเนินงานการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในเมือง โดยระบุว่า ปัจจุบันมี 5 โครงการรถไฟฟ้า อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่

(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ : งานก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 งานออกแบบ ผลิต และติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 61.03 เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.55 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง – บางแค ในเดือนตุลาคม 2562 และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ในเดือนเมษายน 2563 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

(2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต : งานก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 78.79 เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.26 งานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถจะดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายสินทรัพย์และโอนภาระทางการเงินให้กรุงเทพมหานครแล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2563

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

(3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 93.72 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.26 เนื่องจากผู้รับเงินค่าตอบแทนมาตกลงทำสัญญาน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ และมีการปรับแนวเขตทางโครงการช่วงดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน งานก่อสร้างโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 18.33 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.48 รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 75.00 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

(4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 90.57 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 1.58 เนื่องจากผู้รับเงินค่าตอบแทนมาตกลงทำสัญญาน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ และมีการปรับแนวเขตทางโครงการช่วงดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน งานก่อสร้างโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 6.51 เร็วกว่าแผนร้อยละ 5.01 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564

(5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 94.34 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.12 งานก่อสร้างงานโยธา ผลิดและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 7.48 เร็วกว่าแผนร้อยละ 5.98 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564

รถไฟฟ้า-รฟม.

อนาคตส่วนต่อขยาย 'สายสีม่วง' คาดเปิดให้บริการ พ.ย. 2567

ส่วนอีก 1 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่อยู่ระหว่างการประกวดราคานั้น ได้มีรายงาน ครม. ไว้ว่า งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 14.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 11.00 เนื่องจากผู้สนใจเห็นว่าข้อกำหนดขอบเขตของงานที่กำหนด (TOR) ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทำให้ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนองานคัดเลือกที่ปรึกษา 

ส่วนงานโยธาและจัดหาผู้รับจ้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 14.80 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 12.70 เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติในการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างและการจัดทำราคากลาง รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 50.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 25.00 โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการศึกษาฯ ตามข้อสังเกตของ ครม. ที่ให้ รฟม. เร่งเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกัน และให้ระบุรายละเอียดดังกล่าวในรายงานการศึกษาฯ ด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2567

รถไฟฟ้าใต้ดิน-สายสีส้ม

ลุยศึกษาความเป็นไปได้ส่วนต่อขยาย 'สายสีส้ม' - รถไฟฟ้า ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย : งานขออนุมัติโครงการและศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 75.00 ตามแผนงานคัดเลือกเอกชนผลิต ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถยังไม่ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ จากคณะรัฐมนตรีโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2568

(2) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต : คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กันยายน 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ตแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) มีความก้าวหน้าร้อยละ 93.33 ตามแผน รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 50.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 25.00 เนื่องจาก รฟม. ใช้ระยะเวลาจัดจ้างที่ปรึกษามากกว่าแผนที่กำหนดโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2566

(3) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ : คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กันยายน 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคก. มีความก้าวหน้าร้อยละ 90.00 ตามแผนงานว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 40.00 ตามแผน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการทางวิ่งระดับพื้นดินในเดือนกรกฎาคม 2567 และเปิดให้บริการทางวิ่งระดับทั้งพื้นดินและใต้ดินในเดือนมกราคม 2570

(4) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา : รฟม. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดนครราชสีมา มีความก้าวหน้าร้อยละ 80.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 10.00 เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารประกอบร่างพระราชกฤษฎีกามากกว่าแผนที่กำหนด โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2567

นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้าแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2562 รวมทั้งได้มีการวิเคราะห์และประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีตั๋วร่วมตามมาตรฐาน EMV (Europay, Mastercard และ Visa) ได้นำบัตรแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและคาดว่าจะจัดจ้างผู้ดำเนินการพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

รถไฟฟ้า.jpg

ตั้ง 'ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย' นั่งประธานกรรมการ รฟม. คนใหม่

ในวันเดียวกัน ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 4 คน ได้แก่ นายอมร พิมานมาศ, นายวรรณชัย บุญบำรุง, นายชูศักดิ์ เกวี, นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ แทนตำแหน่งที่ครบกำหนดวาระ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป

แต่งตั้ง 'สราวุธ ทรงศิริวิไล' อดีต ผอ.สนข. นั่ง 'อธิบดีกรมราง' คนแรก

ที่ประชุม ครม. 21 พ.ค. ยังมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง