ในงาน เซบิต อาเซียน ไทยแลนด์ (CEBIT Asean Thailand) เวทีรวบรวมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลกว่า 200 เจ้า ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เจโทร อินโนเวชัน โปรแกรม” (Jetro Innovation Program : JIP) หน่วยงานส่งเสริมสตาร์ตอัพญี่ปุ่น ภายใต้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) คัดเลือก 7 สตาร์ตอัพจากแดนปลาดิบ ที่คิดว่ามีโอกาสพาร์ตเนอร์กับผู้ประกอบการไทย มาโรดโชว์ภายในงานเพื่อจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching)
ฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานเจโทร กล่าวว่า การจับมือพาสตาร์ตอัพบุกต่างประเทศ อยู่ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “เจ-สตาร์ตอัพ” (J-Startup) ที่มี 3 หน่วยงานรัฐ-เอกชนญี่ปุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจโทร ร่วมมือกันคัดเลือก 92 สตาร์ตอัพที่มีโอกาสธุรกิจในต่างแดน
เจ-สตาร์ตอัพ เริ่มต้นราว 10 ปีก่อน จากก่อนหน้านี้ รัฐบาลค่อนข้างสปอยล์สตาร์ตอัพญี่ปุ่นมาก แต่ภายหลังมองว่าต้องผลักดันให้เติบโตต่างประเทศด้วยตนเอง โดยทางการทำหน้าที่สนับสนุนด้านคำปรึกษา และการพาออกงานต่างๆ
โดยรัฐบาลโตเกียวตั้งเป้าสร้างสตาร์ตอัพยูนิคอร์น 20 รายภายในปี 2023 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 ราย คือ เมอร์คาริ (Mercari) และ ฟรีเพอร์ เน็ตเวิร์ค (Prefer Network)
ในปีหน้า เจโทรเล็งเปิดโค-เวิร์คกิ้งสเปซ สำหรับสตาร์ตอัพญี่ปุ่นในไทย เพื่อเชื่อมโยงกับศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพ (Jetro Global Acceleration Hub) ในสิงคโปร์ด้วย โดยปัจจุบัน เจโทรเปิดศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพ 12 แห่งทั่วโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 60 ล้านบาท
สำหรับประเทศไทย ประธานเจโทรระบุว่า เบื้องต้นจะเป็นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซก่อน เนื่องจากระบบนิเวศ (ecosystem) ของสตาร์ตอัพไทยยังไม่พร้อมนัก หากในอนาคตมีโอกาส จะเข้ามาเปิด Jetro Global Acceleration Hub อย่างแน่นอน
จุนอิจิโระ ฮาเซะบะ รองอธิบดีหน่วยงานส่งเสริมด้านนวัตกรรม เจโทร โตเกียว ซึ่งเดินทางมาร่วมงานเซบิต อาเซียน ไทยแลนด์ เสริมว่า สตาร์ตอัพ 7 ราย ที่พาเข้ามาในประเทศไทย เป็นสตาร์ตอัพที่มองว่ามีศักยภาพที่จะจับมือทำธุรกิจกับพาร์ทเนอร์ไทย โดยมีที่น่าสนใจ เช่น
โดยสตาร์ตอัพญี่ปุ่นและสตาร์ตอัพไทย มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญในเชิงเทคนิค คือ เทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ดีพเทค (Deep Technology) ปัญญาประดิษฐ์ และโรบ็อต ขณะที่การเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในประเทศ
ในความคิดของฮาเซะบะเชื่อว่า คนไทยมีความเชี่ยวชาญด้านมาร์เก็ตติ้งมากกว่าคนญี่ปุ่น และเชี่ยวชาญภูมิยุทธศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกสตาร์ตอัพของตนไปทำธุรกิจในประเทศข้างเคียงได้ไม่ยาก การพาร์ทเนอร์ เชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกันระหว่าง 2 ประเทศ จึงมีความสำคัญมาก
“จริงๆ บริษัทญี่ปุ่นก็อยากออกจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาด แต่ว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) และประเทศในแถบๆ นี้ แต่ไทยเชี่ยวชาญตลาดแถวนี้” ฮาเซะบะ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ ออนไลน์
สตาร์ตอัพไทยเองก็มีโอกาส เนื่องจากเป็นประเทศพี่ใหญ่แห่ง CLMV และก้าวหน้ามากที่สุด เขาชี้ต่อว่า ราว 8 ปีที่แล้ว เขาเคยศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้กลับมาอีกทีพบว่า คนไทยมีกำลังจับจ่ายเพิ่มขึ้นเยอะมาก จึงอยากเน้นประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญในบริเวณนี้ จากนั้นค่อยหาโอกาสในการใช้ไทยเป็นฐานเพื่อขยายธุรกิจสตาร์ตอัพไปยังประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชา
ส่วนสตาร์ตอัพญี่ปุ่นที่คิดว่าน่าจะบุกตลาดไทยได้ดี น่าจะเป็นสตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-Curve) เพราะในอนาคตน่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมาก
“ที่ไปได้ดีน่าจะเป็นสตาร์ตอัพปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง(IoT) โรโบติก ซึ่งจะเข้ามาช่วยเหลือการทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตได้ดี โดยญี่ปุ่นจะมีความรู้ส่งต่อให้ประเทศอื่นๆ ผลิตต่อ อาจจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีนั้นๆ ออกมาใช้เอง ทั้งนี้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่อยู่แล้ว และถ้าใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์มาช่วยเสริมการผลิต ก็จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ฮาเซะบะมองว่า อุปสรรคเดียวของการพาร์ทเนอร์ระหว่างสตาร์ตอัพญี่ปุ่น-ไทย น่าจะเป็นเรื่องของ ‘ภาษา’ เพราะคนของทั้ง 2 ประเทศยังไม่ค่อยเก่งเรื่องภาษามากนัก แต่ตรงนี้ในอนาคต อาจจะสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแปลภาษาช่วยให้การทำงานราบรื่นไปได้
ด้านวัฒนธรรมการทำงาน เขามองว่าน่าจะไม่มีปัญหาระหว่างกัน เนื่องจากสตาร์ตอัพส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กจึงทำให้การตัดสินใจต่างๆ รวดเร็ว โดยทุกสตาร์ตอัพทั่วโลกมีเป้าหมายเดียวกันคือ ประสบความสำเร็จและสร้างกำไร