ไม่พบผลการค้นหา
ทีดีอาร์ไอ ชวนตั้งคำถาม เสาะหาอนาคตประเทศไทยในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ฉายภาพความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะสามารถปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตในความปั่นป่วนได้อย่างไร โดย 'ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์' เริ่มต้นเปิดงานสัมมนาด้วยการเปรียบเปรยว่า วันนี้ พระโค ต้องกลายเป็น วากิว

ในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2561 "ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี" จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI)

'ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์' ประธานทีดีอาร์ไอ เริ่มต้นเปิดงานเสวนาครั้งนี้ ด้วยการกล่าวถึง 'พระโควันพืชมงคล' สัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพิงภาคเกษตร โดยปีนี้พระโคกินหญ้า-น้ำ-เหล้า เสี่ยงทายว่า เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง

ทว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาภาคบริการและภาคการผลิต 'พระโค' ในวันนี้จึงต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนให้กลายเป็น 'วากิว'

เพราะวากิว เป็นเนื้อวัวระดับพรีเมียมของญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง Craft Economy ที่อาศัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงการผลิต เช่น การใช้ปลอกคอเซนเซอร์เพื่อวัด และมีการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดมาตรฐาน จากการการแบ่งเกรดเนื้อ เก็บประวัติพ่อวัวและแม่วัว เป็นต้น

ดังนั้น วากิวจึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำเห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยต้องการการปรับตัวจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน การกำหนดนโยบายสาธารณะจะต้องสอดคล้องกับยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างถอนรากถอนโคนต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนคนทำงานอาชีพต่างๆ



สมเกียรติ ตั้ง4.jpg

การมาถึงของ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์

ดร.สมเกียรติ ฉายภาพความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออโตเมชั่น ว่ามีความสามารถทัดเทียมหรือเกินกว่ามนุษย์ไปแล้วในหลายด้าน เช่น Alpha Go หรือ อัลฟา โก ซึ่งสามารถเอาชนะมนุษย์ได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันโกะเมื่อปีที่ผ่านมา และปัจจุบันยังมี Akpha Go Zero ที่สามารถเอาชนะ Alpha Go ด้วยการเรียนรู้เพียง 3 วัน, Libratus หรือลิบราตัส ซึ่งสามารถเล่นโป๊กเกอร์ชนะคนด้วยการบลัฟ (Bluff) รวมถึง Xiaoyi (เสียวยี่) หุ่นยนต์ที่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตแพทย์ได้ แม้กระทั่ง Sophia หุ่นยนต์ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ ถึงขั้นได้รับสัญชาติในซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

AI เหล่านี้ ทำงานโดยอาศัยหลักการพื้นฐาน 4 อย่าง คือ การมีเซ็นเซอร์ (Sensors) การเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดมหึมา (Big Data) การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI/Deep Learning) รวมถึงการประมวลผลและเก็บข้อมูล (Cloud Computing)

โดยปัจจุบันการพัฒนา AI สามารถเลียนแบบมนุษย์ในหลายขั้น อาทิ

  • เลียนแบบสมอง - สามารถทำข้อสอบ SAT (ข้อสอบมาตรฐานก่อนเข้าชั้นอุดมศึกษาในสหรัฐฯ) ชนะค่าเฉลี่ยของมนุษย์ แปลข่าวจากภาษาเยอรมันและอังกฤษได้ หรือในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ในอนาคตจะสามารถเก็บ DNA จากที่เกิดเหตุ มาให้ AI จำลองรูปพรรณเบื้องต้นได้
  • เลียนแบบตา - สามารถระบุวัตถุในภาพชนะมนุษย์และตอบคำถามจากภาพได้ดีใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ, เว็บไซต์หาคู่ใช้ AI จดจำหน้าตาเพื่อแยกแยะรสนิยมทางเพศ, ในอนาคตเราอาจใช้หน้าตาของเราในการจ่ายเงิน กดเงิน ถอนเงิน แทนบัตร ซึ่งมีตัวอย่าง กรณีสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ มีปัญหาเครื่องล่าช้าเพราะผู้โดยสารมักชอปปิ้งจนเพลิน สนามบินชางงีจึงใช้ AI ในการตรวจจับใบหน้าเพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงจากกัวลาลัมเปอร์ถึงสิงคโปร์ ที่จะนำเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้ามาใช้ในการผ่านเข้าประเทศ เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินงานเอกสาร
  • เลียนแบบหู - สามารถถอดเสียงเป็นถ้อยคำได้แม่นยำร้อยละ 95
  • เลียนแบบปาก - การโต้ตอบของ Siri ในระบบปฏิบัติการของแอปเปิล, คุณสามารถสั่งซื้อสินค้าของผ่าน Alexa ของ Amazon หรือ ล่าสุด Google Assistance สามารถโทรศัพท์จองร้านทำผมได้ราวกับว่าเป็นมนุษย์อีกคน โดยที่พนักงานในร้านทำผมไม่รู้ว่าเสียงที่สนทนาอยู่เป็นมนุษย์ หรือ AI
  • เลียนแบบแขน - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ผลิตแขนกลที่สามารถต่อเก้าอี้อิเกีย (IKEA) ได้แล้ว แม้ว่าขณะนี้ยังใช้เวลาในการต่อนาน แต่ในอนาคตคาดว่าแขนกลพวกนี้จะสามารถใช้เวลาในการต่อได้น้อยลง

ใครจะเป็นมหาอำนาจด้าน AI ของโลก

ในระดับโลก ผู้เล่นทางฝั่งประเทศตะวันตกคงหนีไม่พ้นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ขณะที่ฝั่งเอเชียมี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่แข่งกันกำหนดยุทธศาสตร์และลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

เมื่อพิจารณาเม็ดเงินการลงทุนในประเทศฝั่งเอเชีย พบว่า ในปี 2561 จีนลงทุน 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ทำให้จีนเป็นผู้นำด้านการตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับ AI มากที่สุดในโลก เป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่แซงหน้าสหราชอาณาจักรไปแล้ว แต่ยังเป็นรองสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายเช่นนี้ทำให้จีน มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากที่สุดในโลก

ขณะที่ เกาหลีใต้เองมียุทธศาสตร์ Intelligence Information Society ด้วยเงินลงทุน 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์ Connected Industries มีเงินลงทุน 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไต้หวันมียุทธศาสตร์ AI Taiwan ด้วยเม็ดเงิน 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ทางสิงคโปร์มียุทธศาสตร์ AI Singapore ตัวเลขลงทุนอยู่ที่ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น


"ส่วนประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์อะไรเลย เราจึงจำเป็นที่ต้องปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน"


ความปั่นป่วนจากเทคโนโลยี ท้าทายแรงงานหนักขึ้น

ดร.สมเกียรติ กล่าววว่า การเกิดขึ้นของ AI อาจทำให้บางอาชีพ บางอุตสาหกรรม ถูกเขย่าจากการเปลี่ยนแปลง 

  • ในอนาคต AI อาจเก่งกว่าหมอ เนื่องจาก AI จะสามารถวินิจฉัยการเกิดของมะเร็งผิวหนัง ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นปอดบวมโดยดูจากภาพเอ็กซ์เรย์ สามารถตรวจคลื่นหัวใจที่เต้นผิดปกติ และนำไปสู่การรักษาได้ทันท่วงที
  • แอปพลิเคชันอูเบอร์ (Uber) ทำลายทักษะแรงงานแบบเก่า และสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมา ในกรณีของอูเบอร์คือการสร้าง Sharing Economy การเกิดขึ้นของอูเบอร์ทำให้ราคาใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ในนิวยอร์กลดลง และคนขับแท็กซี่หันไปขับอูเบอร์ เช่นเดียวกับแท็กซี่ในลอนดอนที่ออกมาประท้วง เพราะใบอนุญาตแบบเก่าของอังกฤษได้มายาก ต้องผ่านการสอบหลายขั้นตอน ขณะที่ คนขับอูเบอร์ไม่ต้องผ่านการทดสอบแบบเก่าเลย
  • การเกิดขึ้นของรถยนต์ไร้คนขับ ทำให้บริษัทผลิตกระจกรถยนต์ในญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม เพราะมีแนวโน้มที่กระจกรถยนต์จะไม่มีประโยชน์ต่อไปในอนาคต หรือ รถบรรทุกไร้คนขับในยุโรปที่สามารถขับต่อกันในระยะห่างที่เท่ากัน การขับต่อกันหลายๆ คันเป็นการช่วยประหยัดพลังงานในการต้านลมขณะขับ นอกจากนี้ รถยนต์ไร้คนขับยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ในอนาคต เมื่อ AI สามารถคำนวณการเดินทางของรถแต่ละคันให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรได้
  • แพลตฟอร์ม Google และ Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่หารายได้ด้วยการโฆษณา กระทบอุตสาหกรรมสื่อทั่วโลก เพราะส่วนแบ่งค่าโฆษณาไหลเข้าไปที่ Google และ Facebook มากถึงร้อยละ 95
  • E-commerce จะกระทบธุรกิจธนาคาร เพราะ e-commerce มีข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาล สามารถเป็นข้อมูลเพิื่อการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ปล่อยกู้ แบบเจาะจงได้
  • ภาคเกษตรถูกกระทบจากระบบการผลิตที่แม่นยำมากขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์อัจฉริยะที่สามารถควบคุมจากระยะไกล, โดรนในการเกษตร และ ในญี่ปุ่น ใช้เซนเซอร์แสงคัดแยกมันหวานที่ได้คุณภาพและรสชาติอร่อยได้แล้ว
  • อุตสาหกรรมที่จะถูกทระทบแรงมาก เช่น พลังงาน ขนส่ง สื่อ โทรคมนาคม เทคโนโลยี, อุตสาหกรรมที่จะถูกกระทบแรงปานกลาง เช่น การท่องเที่ยว สุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีก การเงิน ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ถูกกระทบมากนัก แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว คือ ระบบการศึกษา และ ระบบการบริการภาครัฐ เพราะประเทศต้องการแรงงานที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ขณะเดียวกัน ต้องการการกำกับดูแลด้วยมาตรฐานที่ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานอยู่ 3 ประเภท ที่ไม่ถูกกระทบจากการความปั่นป่วนโดยเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่ม Hand หรือกลุ่มงานที่ใช้มือผลิตแบบประณีต, กลุ่ม Head หรือกลุ่มงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และ กลุ่ม Heart กลุ่มทำงานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม



สมเกียรติ ตั้ง3.jpg

3 ทางเลือก-ทางรอด

ดร.สมเกียรติ ฉายภาพ 3 แนวทางให้เห็นว่า หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

แนวทางที่ 1 เศรษฐกิจไทยไม่มีการพัฒนา บวกกับถูกปั่นป่วนจากเทคโนโลยีของต่างประเทศ การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มในหลายอุตสาหกรรมจะย้ายออกไปต่างประเทศ เช่น ในอุตสาหกรรมสื่อ ที่สื่อออนไลน์จะเข้ามาแทนที่ อุตสาหกรรมการเงิน ที่จะมี fintech เข้ามา อุตสาหกรรมการผลิตมี Automation หรือระบบอัตโนมัติเข้ามา จะเกิดการ re-shoring หรือการหวนกลับประเทศต้นทาง

หากเป็นไปตามแนวทางนี้ เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 ต่อปีตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่น่าจะโตได้เพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี คนไทยจะมีรายได้ต่อหัว 8,600 ดอลลาร์สหรัฐ และมีตำแหน่งงานหายไปราว 3 ล้านตำแหน่ง

แนวทางที่ 2 ประเทศไทยเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งนำการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และ 10 อุตสาหกรรม S-Curve มาเป็นเรือธง รวมทั้งใช้มาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่แนวทางนี้กลับขาดการเชื่อมโยงบริษัทต่างชาติเข้ากับการผลิตแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูง และขาดงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา ต่างจากสิงคโปร์ที่ดึงดูดการลงทุนด้วยการให้ทุนทำวิจัยร่วม

หากเป็นไปในลักษณะนี้ ประเทศไทยจะโตได้ร้อยละ 3.1 ต่อปี รายได้ต่อหัวจะอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังไม่สามารถพาประเทศหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานหายไป 1.5 ล้านตำแหน่ง

แนวทางที่ 3 เศรษฐกิจแห่งอนาคต เป็นการต่อยอด ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยยุทธศาสตร์การใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง และเชื่อมโยงการลงทุน เพื่อสร้างงานใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และแรงงานมีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโตได้ร้อยละ 4.3 ต่อปี รายได้เฉลี่ยของคนไทยจะอยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ประเทศเราจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579

นอกจากนี้ แนวทางที่ 3 หากต่อยอดจากกลุ่ม Hand-Head-Heart หรือ 3H มาผนวกเป็นเศรษฐกิจแบบใหม่ ย่อมพบเศรษฐกิจแห่งอนาคต 3C ได้แก่

  • เศรษฐกิจประณีต (Craft Economy) คือ การทำงานคราฟท์ (Handcarft) แทนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม (Mass production) เช่น กรอบแว่นตาไม้ที่ผลิตจากมือทุกชิ้น ผลิตทุเรียนชั้นยอด มีมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพ และความอร่อย, คราฟต์เบียร์, เฟอร์นิเจอร์สั่งทำ
  • เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เช่น การออกแบบแฟชั่น อุตสาหกรรมเกม ละคร ภาพยนตร์ โฆษณา จัดสวน จัดดอกไม้ ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่าง กระแสของละครโทรทัศน์เรื่องบุเพสันนิวาส ที่เป็นปรากฏการณ์ และสร้างการต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ไปอีกหลายทาง หรือแม้กระทั่ง BNK48 ที่นอกจากแฟนเพลง ยังมีโอตะที่พร้อมสนับสนุนสมาชิกแต่ละคนในทีม นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการแบบใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ถ่ายทอดสดชีวิตประจำวัน การชมการแสดงอย่างใกล้ชิด คาเฟ่ การซื้อบัตรจับมือ
  • เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) จากบริการธรรมดาสู่สัมผัสมนุษย์ ผลิตสินค้า-บริการที่เน้นดูแลร่างกาย อารมณ์ และความต้องการพัฒนาคน เพื่อสร้างงานรายได้ดีให้แก่ประชาชน อาชีพเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ดูแลผู้สูงอายุ ดูแลผู้ป่วย ดูแล-พัฒนาเด็ก แนะแนวอาชีพ เป็นต้น


สมเกียรติ ตั้ง2.jpg

ดังนั้น โจทย์สำคัญในวันนี้คือ จะทำอย่างไรให้ 'พระโค' เปลี่ยนเป็น 'วากิว'

แล้วคำตอบจาก ทีดีอาร์ไอคือ ประเทศไทยต้องไม่ได้อาศัยเฉพาะการปรับโมเดลการพัฒนาประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ ปรับระบบสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ปรับทัศนคติภาครัฐในการกำหนดนโยบายและออกกฎระเบียบด้วย