พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 23 – 24 ก.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีจะนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุม ครม.นอกสถานที่ ณ จ.อำนาจเจริญและอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจังหวัดราชธานีเจริญศรีโสธร (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร)
โดยการตรวจราชการนั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาแพทย์แผนไทยที่มีมาตรฐานบูรณาการกับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้เพื่อสร้างสมดุลธรรมชาติ และการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ มุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัด คือ “อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์เพิ่มมูลค่า การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การค้าชายแดนได้มาตรฐานสากล”
สำหรับสภาพปัญหาของพื้นที่ที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและต้องเร่งแก้ไข คือ รายได้ของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะ จ.ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ นั้นติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวต่ำที่สุดของประเทศ มีความก้าวหน้าด้านการศึกษาน้อย เกิดภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก และมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ครม. จะได้พิจารณาข้อเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัด ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งทางถนน ทางอากาศ และทางราง เช่น ขยายช่องจราจร ขยายสนามบิน ศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ 2. การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ปัญหาน้ำท่วม เช่น จัดทำแก้มลิง อาคารบังคับน้ำ ระบบส่งน้ำ 3. การยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ก่อสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร
4. การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น พัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลศูนย์ สนับสนุนศูนย์การแพทย์แผนไทย 5. การส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น พัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี วิมานพญาแถน จ.ยโสธร และอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ เป็นต้น
“นายกฯ เน้นย้ำว่า การลงพื้นที่และประชุม ครม.นอกสถานที่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการติดตามรับฟังปัญหาและความเดือดร้อนโดยตรงจากประชาชน โดยขออย่ามองเป็นเรื่องการเมือง วันนี้ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไปด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย”
ทั้งนี้แม้รัฐบาลระบุว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการและดูความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่ามีปัญหา อุปสรรคอะไรบ้าง แต่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีนัยยะทางการเมือง โดยสวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.21 เห็นว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้มีนัยยะทางการเมือง เพราะ เป็นการลงพื้นที่เพื่อหยั่งเสียงประชาชน มีความข้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องการดูกระแสตอบรับของประชาชน เป็นการหาแนวทางในการทำงานสร้างผลงาน สถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้น แข่งขันกันมากขึ้น