ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการต่างประเทศตั้งข้อสังเกตต่อเจตนาการทำเรื่องขอตัวในช่วงเวลานี้ ลงความเห็นจะมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

เว็บไซต์อินเตอร์พรีเตอร์ (Interpreter) ตีพิมพ์บทความของนักวิชาการ คือ เอลเลียต เบรนนัน (Elliot Brennan) ที่เขียนเรื่องการที่ไทยดำเนินเรื่องขอตัวอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจากอังกฤษเพื่อให้กลับมารับโทษที่ศาลตัดสินไว้ให้ต้องจำคุก 5 ปีในข้อหาเพิกเฉยละเลยในการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหาย ข้อเขียนของเบรนนันตั้งคำถามเรื่องเวลาของการดำเนินการขอตัวพร้อมทั้งชี้ถึงผลเสียหากอังกฤษดำเนินการตามที่ไทยร้องขอ

เบรนนันระบุว่า อันที่จริงไทยมีโอกาสในอันที่จะขอตัวอดีตนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นปีเมื่อมีภาพที่ปรากฎออกมาในเวลานั้นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในกรุงลอนดอน และหลังจากนั้นยังมีภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ร่วมกับพี่ชาย คือนายทักษิณ ชินวัตร แต่ไทยกลับไม่ได้ดำเนินการ แต่เพิ่งจะมาขอตัวในช่วงนี้ เขาให้ความเห็นว่าเรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อการจัดเลือกตั้งอย่างแน่นอน

เบรนนันระบุว่า ที่ผ่านมา คสช. สัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งแล้วก็เลื่อนมาโดยตลอด จนล่าสุดบอกว่าจะให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการเปิดตัวพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร แต่การมาประกาศขอตัวอดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนี้นับว่าเป็นจังหวะก้าวที่แปลกอย่างยิ่ง เขาตั้งคำถามว่า หากเกิดความไม่สงบขึ้น คสช.จะใช้เป็นเหตุผลในอันที่จะไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ถ้าไม่ใช่ เหตุใดจึงมาดำเนินการขอตัวในช่วงนี้ 

เบรนนันชี้ว่าที่ผ่านมากลุ่มผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์มักจะมีปฏิกิริยาตอบโต้มาตรการต่างๆ ของ คสช.เสมอๆ แม้ว่าในที่สุดแล้วการตอบโต้นั้นๆ จะส่งผลกระทบต่อตัวเองก็ตาม และผลพวงของการแสดงปฏิกิริยาของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีก็อาจจะกลายเป็นข้ออ้างให้ คสช.เลื่อนการจัดเลือกตั้งออกไปก็ได้ ไม่ว่าปฏิกิริยานั้นๆ จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม 

บทความของเบรนนันบอกว่า ไม่ว่าอังกฤษจะตอบสนองอย่างไรในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น อังกฤษคงไม่เพียงแต่รู้สึกลำบากใจที่จะต้องส่งตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อังกฤษยังขาดข้อมูลในอันที่จะทำเช่นนั้นด้วย สิ่งที่อังกฤษอาจจะทำได้คือขอให้ยิ่งลักษณ์ย้ายออกจากบ้านในกรุงลอนดอนไปอย่างเงียบๆ 

ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ 768781.jpg

เขาชี้อีกว่า หากมีการเลือกตั้งจริง ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร คสช. ก็จะยังเกาะกุมอำนาจต่อไปอย่างน้อยก็ช่วงหนึ่ง โดยอาศัยฐานของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนอังกฤษเองนั้นเขาชี้ว่าตระหนักดีว่าจะต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของไทยกับตะวันตกจืดจางลงหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เมื่อปีที่แล้วอังกฤษฟื้นฟูความสัมพันธ์ จัดให้มีการฝึกทางทหารร่วมกันชื่อ Panther Gold 2017 แต่เบรนนันเห็นว่า แม้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอาจจะมีส่วนช่วยให้มีการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น แต่ทว่าไม่มีผลต่อการที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นเสรีและยุติธรรม 

เขายกข้อมูลว่า เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมามีเสียงเตือนจาก กกต.แล้วว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยยังยอมให้คนของตระกูลชินวัตรมีอิทธิพลในพรรคอย่างมากต่อไป พรรคอาจถูกยุบได้ เสียงเตือนเช่นนี้ยิ่งฟังดูน่าห่วงถ้าพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ซึ่งหลังจากที่ ฮุน เซ็น ยกเลิกพรรคฝ่ายค้านไปทำให้เขาชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น อย่างไรก็ตามเบรนนันบอกว่า อาจจะไม่ดีนักถ้า คสช.จะทำเช่นนั้นบ้าง 

เบรนนันอ้างผลการสำรวจความเห็นของสวนดุสิตโพลเมื่อเดือน มิ.ย. บอกว่าพรรคเพื่อไทยยังคงครองความนิยมสูงสุดอยู่ ในขณะที่ผู้มีสิทธิออกเสียงยังคงยึดติดอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าพรรค ซึ่งหมายความว่า บุคคลอย่างสองอดีตนายกรัฐมนตรีตระกูลชินวัตรยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การขอรับตัวยิ่งลักษณ์อาจจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นสิ่งที่ คสช. บอกว่าต้องการจะควบคุมไว้ให้ได้ เขาเขียนไว้ด้วยว่า บางส่วนใน คสช. อาจจะรู้สึกว่าความวุ่นวายอาจจะช่วยทำให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไปได้ แต่สิ่งนี้สวนกระแสความต้องการในประเทศในเวลานี้ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย การขอตัวยิ่งลักษณ์จึงน่าจะเป็นความเคลื่อนไหวที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของไทยและอาจจะทำให้หนทางกลับสู่ประชาธิปไตยนั้นนานขึ้นไปอีก 

สำหรับผู้เขียนนั้น เว็บไซต์ให้ข้อมูลไว้ว่า เอลเลียต เบรนนัน เป็นนักวิชาการอิสระที่เคยทำงานกับสถาบันว่าด้วยนโยบายการพัฒนาและความมั่นคงของสวีเดน เขาเป็นนักวิเคราะห์เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนบทความให้กับเวบเดอะอินเตอร์พรีเตอร์ของสถาบันโลวี (Lowy Institute) ในออสเตรเลีย ทั้งยังเขียนให้กับไอเอชเอส เจนส์ อินเทลลิเจนส์ ซึ่งเป็นกลุ่มสื่อแนววิเคราะห์ประเด็นความมั่นคงรวมทั้งเขียนงานที่เคยออกสื่อระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: