นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อแสดงหลักฐานเพิ่มเติมว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกดำเนินคดีเข้าข่ายความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง โดยนายเรืองไกร เห็นว่าสนธิสัญญาที่ถูกพูดถึง แท้จริงคือ สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ค.ศ. 1911 ซึ่งจะสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ เพียง 31 รายการความผิดเท่านั้น และไม่มีการระบุถึงโทษคดีทางการเมืองไว้ และความในสัญญาข้อ 2 วรรคสาม ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า การจะส่งผู้ร้ายให้กันและกันได้สุดแล้วแต่ประเทศซึ่งรับคำขอให้ส่งเห็นสมควรว่า จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน หรือไม่
ขณะเดียวกันคดีความที่เกิดกับนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อพิจารณาแล้วล้วนมีที่มาจากประเด็นทางการเมือง เช่นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ลงมติชี้มูลความผิดต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่มาจากการแต่งตั้งตามประกาศ คปค.ที่ 19 จึงเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง คำร้องขอถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ชอบ เพราะไม่ได้ทำตาม พรป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 61 และคำร้องดังกล่าวยังมีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ ส.ส. แต่เป็นกลุ่ม กปปส. ร่วมลงชื่ออยู่ด้วย รวมถึงกรณี ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกตัดสินให้มีความผิดทางอาญา โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีลักษณะเป็นระบบศาลชั้นเดียว เพราะโดยทั่วไปศาลต่างชั้นกัน หมายถึง ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
ขณะที่การขอตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากอังกฤษ โดยอ้างสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ก็มีปัญหา เนื่องจากพระราชบัญญัติ ถูกตราขึ้นโดย สนช.ที่มีองค์ประชุม ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมี การคิดค่าเสียหาย ซึ่งมาจากการสั่งการและเห็นชอบของฝ่ายที่ยึดอำนาจ ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงเป็นคดีความผิดทางปกครองที่มีลักษณะทางการเมืองเช่นกัน
นายเรืองไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า ทั้งคดีถอดถอนจากตำแหน่งเพื่อตัดสิทธิทางการเมือง คดีทางปกครองที่เรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย และคดีอาญาที่ตัดสินลงโทษจำคุก ล้วนมีเหตุมาจากการยึดอำนาจทั้งสิ้น ดังนั้นจะมองแค่ผลของการถอดถอน หรือผลของคำพิพากษาแล้วกล่าวอ้างว่า ไม่ใช่คดีความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง ก็จะเป็นแค่การตีความเพื่อใช้กฎหมายแบบหวังผลทางการเมือง
อ่านเพิ่มเติม