ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำฝรั่งเศสและอิตาลีเตรียมพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องผู้ลี้ภัย ที่ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวหาอิตาลีว่า 'ไร้ความรับผิดชอบ' ที่ปฏิเสธรับผู้ลี้ภัยบนเรืออควาเรียส จนรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอิตาลีบอกให้ฝรั่งเศสออกมาขอโทษ

นายมัตเตโอ ซัลวินี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอิตาลี แสดงความคิดเห็นต่อสื่อว่า แผนการพูดคุยระหว่างนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีของอิตาลี ที่มีกำหนดในวันนี้ (15 มิ.ย.) ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส ควรจะถูกยกเลิก หากฝรั่งเศสยังไม่ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ หลังมีการกล่าวหารัฐบาลอิตาลีว่าเป็นพวกเกลียดชังมนุษย์และไร้ความรับผิดชอบ สืบเนื่องจากที่อิตาลีปิดท่าเรือไม่รับผู้ลี้ภัยบนเรืออควาเรียส ขณะที่กระทรวงต่างประเทศของอิตาลี ก็เสริมประเด็นนี้ว่า คำกล่าวหาของนายมาครง เป็นการบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ นายซัลวินี กล่าวว่าประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ปล่อยให้อิตาลีดิ้นรนที่จะจัดการกับปัญหาผู้ลี้ภัยที่เดินทางจากทวีปแอฟริกาข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพียงลำพัง ซึ่งประเทศอิตาลีดูแลผู้ลี้ภัยมาแล้วมากกว่า 7 แสนคน ตั้งแต่ปี 2013 

arf01.jpg

นอกจากนี้ นายซัลวินี ยังพูดถึงฝรั่งเศสที่รับผู้ลี้ภัยเพียงแค่ 640 คน จากทั้งหมด 9,816 คน ตามที่เคยสัญญาว่าจะรับจากประเทศอิตาลี และในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ ฝรั่งเศสยังส่งผู้ลี้ภัยกลับมาให้อิตาลี ถึง 10,249 คน จากเหตุการณ์นี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่นายซัลวินีซึ่งเป็นอดีตผู้นำแนวร่วมพรรคกลางขวา จะไม่พอใจที่ผู้นำฝรั่งเศสออกมาพูดถึงอิตาลีว่าไร้ความรับผิดชอบและเห็นแก่ตัว 

ขณะที่นายฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ซึ่งเป็นชาวอิตาลี เคยให้ความเห็นในประเด็นผู้ลี้ภัยจากเรืออควาเรียสว่าอิตาลีมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับผู้ลี้ภัยที่ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาก็ได้ ซึ่งเราจำเป็นต้องรับฟังเหตุผลที่อิตาลีตัดสินใจปิดท่าเรือไม่รับผู้ลี้ภัยเช่นกัน 

นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีของอิตาลี จะพูดคุยกันที่กรุงปารีสเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศออกมายืนยันก่อนหน้านี้ว่า จะริเริ่มการหารือเพื่อสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของสถานการณ์การเมืองยุโรปในปัจจุบัน ที่มีปัญหาขัดแย้งกันเองระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเด็นผู้ลี้ภัย และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งการขึ้นมามีอำนาจของพรรคการเมืองฝ่ายขวา ที่นับวันจะได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มจากประชาชนผู้รู้สึกว่าตนเองเสียผลประโยชน์จากนโยบายรับผู้ลี้ภัยมากขึ้น

ภาพ: AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: