ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอผลงานวิชาการไพรมารีโหวตกับการสร้างความเป็นสถาบันการเมือง โดยชี้ว่าไพรมารีโหวตช่วยลดอำนาจเจ้าของพรรค คัดสรรผู้สมัครลงเลือกตั้งมาเป็นสมาชิกพรรคคัดเลือกผู้สมัคร คาดระบบดังกล่าวอาจทำให้นักการเมืองพรรคเดียวกันทะเลาะกันเอง

ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิชาการ เรื่อง การทำไพรมารีโหวตกับการสร้างความเป็นสถาบันการเมือง ในงานสัมมนา "การเมืองการปกครองไทย 2561 บรรทัดฐานใหม่เพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตยไทย" ของสถาบันพระปกเกล้า โดยระบุว่า การทำไพรมารีโหวต เป็นสิ่งดีที่จะเข้ามาแก้ปัญหา 'ชอบพรรค แต่ไม่ชอบคน' ได้ เพื่อให้ได้พรรคที่ใช่ คนที่ชอบ หลังจากที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ผู้สนับสนุนพรรค ไม่ชอบคนที่พรรคส่งลงเลือกตั้ง แต่จำใจต้องเลือก เพราะพรรคนั้นเป็นพรรคในดวงใจ

นอกจากนี้ ไพรมารีโหวตยังถือเป็นการลดอำนาจ 'เอกบุคคล' หรือเจ้าของพรรค หัวหน้าพรรค และลดอิทธิพลของ 'คณะบุคคล' หรือกรรมการบริหารพรรคที่มีหลายก๊ก หลายมุ้ง เพราะก่อนหน้านี้ การคัดเลือกคนลงสมัครสนามใหญ่ ต้องมาจากการเลือกของคนเหล่านี้ แต่เมื่อมีไพรมารีโหวต ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคคือผู้คัดเลือก

ศาสตราจารย์ไชยันต์ ตั้งสมมติฐานว่า การใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ผู้มีตำแหน่งต่างๆ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบรรดาข้าราชการ จะเปิดตัวว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดหรือไม่ โดยเฉพาะหากอยู่พรรคตรงข้ามกับผู้บังคับบัญชา อาจไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าไปลงคะแนนไพรมารีโหวต เพราะเกรงว่าจะกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ 

ส่วนอีกหนึ่งสมมติฐาน ที่ตั้งไว้คือ การทำไพรมารีโหวต อาจทำให้นักการเมืองพรรคเดียวกัน ทะเลาะกัน เพราะนักการเมืองไทยอาจไม่มีสปิริตมากพอ หากคนในพรรคเดียวกันแพ้การทำไพรมารีโหวตในพื้นที่ จะมองหน้ากันติดหรือไม่ แล้วหลังจากนั้น จะช่วยคนที่ชนะสู้กับคู่แข่งจากพรรคอื่น หรือจะสกัดขัดขา หรือไม่ก็อาจเสียใจจนย้ายพรรค

ข่่าวที่เกี่ยวข้อง: