คำสัญญาของปูตินมีขึ้นในขณะที่ยูเครนระบุว่า ตนได้ยึดคืนหมู่บ้านในลูฮานสก์และเคอร์ซอน โดยเป็นการควบคุมพื้นที่สำคัญของอีก 2 ภูมิภาค ตลอดจนการรุกคืบเข้าไปยังโดเนตสก์ อย่างไรก็ตาม ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียจะยึดดินแดนใดๆ ที่สูญเสียไปกลับคืนมา โดยผู้สื่อข่าวสอบถามถึงดินแดนของยูเครนที่รัสเซียเสียไปล่าสุด ก่อนที่เปสคอฟจะตอบผู้สื่อข่าวว่า “ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ที่นี่ พวกเขาจะอยู่กับรัสเซียตลอดไป พวกเขากลับคืนมา”
ในการแถลงของปูติน เนื่องในโอกาสวันครูของรัสเซีย ประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่า ตนจะ “พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ต่อดินแดนที่ได้รับการผนวกเข้ามาเป็นของรัสเซียใหม่นี้ แต่ แอนดรีย์ คาร์โตโปลอฟ ประธานคณะกรรมการความมั่นคงของรัฐสภาดูมา ระบุกับสื่อของรัฐบาลว่า รัสเซียจำเป็นจะต้องหยุดโกหกเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามรบ พร้อมย้ำว่าชาวรัสเซียไม่ได้เป็นพวกโง่เขลา
ปัจจุบันนี้ กองกำลังยูเครนกำลังรุกคืนพื้นที่ทั้งทางใต้และทางตะวันออก โดย เซอร์ฮีย์ ฮายดาย ผู้ว่าการลูฮานสก์ของยูเครนระบุกับ BBC เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 ต.ค.) ว่า หมู่บ้าน 6 แห่งในภูมิภาคลูฮานสก์ถูกยึดกลับคืนมาได้แล้ว ก่อนที่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน จะกล่าวในภายหลังว่า ยูเครนได้ปลดแอกหมู่บ้านอีก 3 แห่งในทางตอนใต้ของเคอร์ซอน หลังจากการเข้าตีพื้นที่เคอร์ซอนกลับคืนมาเป็นจำนวนมากเมื่อวันก่อน ซึ่งหมายรวมถึงหมู่บ้านดาวีดีฟบริด ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์อย่างมาก
หลังจากรายงานความพ่ายแพ้อย่างหนัก รัสเซียได้เดินหน้าการระดมกำลังกองหนุน หลังจากที่ปูตินประกาศเรียกตัวประชาชน 300,000 คนเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งอยู่ในสังกัดกองหนุนของรัสเซีย ตามมาด้วยการต่อต้านและการประท้วงอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนชาวรัสเซีย ต่อความพยายามในการระดมพลเพิ่มของปูติน ก่อนที่ปูตินจะต้องเร่งลงนามในกฤษฎีกา เพื่อยกเว้นการระดมกำลังพลในกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นเรียนต่างๆ
ในขณะเดียวกัน ปูตินยังได้ลงนามในกฤษฎีกา เพื่อให้ทางการรัสเซียเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งตั้งอยู่ทางทางตอนใต้ของยูเครน ที่ถูกกองทหารรัสเซียเข้ายึดครองตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของสงคราม โดยรัสเซียกล่าวว่าโรงงานแห่งนี้ ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป จะได้รับการดำเนินการโดยบริษัทใหม่ ในขณะที่ทางการยูเครนออกมาระบุว่า ความพยายามของรัสเซียในครั้งนี้ “ไร้ค่า”
ราฟาเอล กรอสซี หัวหน้าหน่วยเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ หรือ IAEA กล่าวว่า ตนจะจัดให้มีการปรึกษาหารือกับทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากความคืบหน้าทางสถานการณ์ล่าสุด โดยกรอสซีกำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังกรุงมอสโก เพื่อหาทางในการจัดตั้งเขตป้องกันรอบโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแนวหน้าของการสู้รบ ปัจจุบัน การต่อสู้รอบโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้สร้างความกังวลระหว่างประเทศ ในขณะที่เตาปฏิกรณ์เครื่องสุดท้ายถูกปิดตัวลงเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดการระเบิดและรั่วไหลของนิวเคลียร์ได้
ที่มา: