ไม่พบผลการค้นหา
‘เศรษฐา’ นายกฯ-รมว.คลัง นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.พัฒนาระบบสุขภาพฯ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคพลัส ปักธง 4 จว. ‘แพร่-เพชรบุรี-ร้อยเอ็ด-นราธิวาส’ นำร่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกเครือข่าย ประเดิมบริการ รพ.เขตดอนเมือง ธันวาคมนี้ ด้าน ‘แพทองธาร’ ลั่นระบบหลักประกันสุขภาพประสบความสำเร็จมาแล้ว 20 ปี พร้อมใช้ระบบดิจิทัลเชื่อมโยงฐานข้อมูล ลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มการเข้าถึงของประชาชน

วันที่ 24 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวง สธ. รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ 

แพทองธาร กล่าวในที่ประชุมว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่ปี 2544 ปัจจุบันครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 99.6 ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ แต่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง โดยแก้ไขจุดที่เป็นปัญหา และความทุกข์ของประชาชนคือ ความเหลื่อมล้ำ, ความแออัด, ระยะเวลารอคอย, คุณภาพการรับการรักษา และการเข้าถึงการบริการ

แพทองธาร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันระหว่างปี 2531 ถึงปี 2560 หลังจากการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า​ พบว่าครัวเรือนที่ต้องการ เป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีจำนวนลดลง เห็นได้ชัดตั้งแต่ 250,000 ครัวเรือนในปี 2531 เหลือเพียง 52,600 ครัวเรือนในปี 2560​ ซึ่งถือได้ว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จในการประกาศใช้มาแล้ว​กว่า 20 ปี 

“วันนี้จำเป็นจะต้องยกระดับนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายนี้จะยังคงเป็นหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับประชาชน ทุกๆ คนในพื้นที่​ ในประเทศไทย และเป็นการปูทางสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นของโครงสร้างระบบสาธารณสุขในทุกมิติ​“ แพทองธาร กล่าว 

แพทองธาร ย้ำว่า การพัฒนาหลักประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบบริการ ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย นัดหมาย ส่งต่อ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมด สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อเข้ารับการบริการรักษาได้ทุกหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ เอกชน คลินิก หรือร้านขายยาใกล้บ้าน โดยยึดหลัก “ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง” ผ่านระบบเทเลเมดีซีน (Telemedicine) 


ปักธง 4 จังหวัดนำร่อง ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค 

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวเสริมว่า เรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ทุกหน่วยบริการทั้งใน และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะดำเนินการนำร่อง 4 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค คือ จ.แพร่ จ.ร้อยเอ็ด จ.เพชรบุรี และจ.นราธิวาส โดยหลังจากนำร่องแล้ว จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ 

สำหรับการหารือ 5 เรื่องเร่งด่วน เพื่อยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งใน และนอกระบบสาธารณสุข ได้แก่ 

1. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ 

2. การรักษามะเร็งครบวงจร และการให้วัคซีน HPV จำนวน 1,000,000 โดส 

3. สถานชีวาภิบาล

4. การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ 

5. การบำบัดผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด 


พัฒนาระบบ ‘บัตรประชาชน’ ใบเดียว - วางเป้า 2 ไตรมาสแรกรู้ผล 

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวง สธ. กล่าวว่า การพัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่นั้น จะมีการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่ 

1. การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ทั้งโรงพยาบาลรัฐสังกัด และนอกสังกัดกระทรวง สธ. รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิก ร้านขายยา และโรงพยาบาลเอกชน 

2. พัฒนาระบบยืนยันตัวตน ผ่านระบบ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) , e-KYC, ThaiD, NDID และHealthID เพื่อตรวจสอบสิทธิ และยืนยันเข้ารับบริการ 

3. พัฒนาระบบ MOPH Data Hub เพื่อบันทึกประวัติสุขภาพ และธุรกรรมต่างๆ ทางการแพทย์ อาทิ สมุดสุขภาพประชาชน ใบสั่งยา สั่งแล็ป บริการจ่ายเงินออนไลน์ การส่งต่อการรักษา ฯลฯ 

4. พัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชน ผ่านระบบ LINE OA หรือแอปพลิเคชัน 

โดยวางเป้าหมายไว้ 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 มกราคม 2567 คือ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือ, สมุดสุขภาพประชาชน, ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล, ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์, การแพทย์ทางไกล และเภสัชกรรมออนไลน์, นัดหมายออนไลน์ และการแจ้งเตือน, บริการรับ-ส่งยาทางไปรษณีย์ และการเบิกจ่ายกับกองทุนสุขภาพผ่านระบบ Financial Data Hub 

ส่วนระยะที่ 2 เมษายน 2567 คือ บริการจ่ายเงินออนไลน์, การส่งต่อการรักษาโดยไม่ใช้ใบส่งต่อ, บริการเจาะเลือด ห้องแล็ปใกล้บ้าน และเชื่อมโยงข้อมูล ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน