นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบระบบแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการ ซึ่งเป็นระบบการการพิสูจน์การรับบริการในขั้นตอนเดียว (One Stop Service) รองรับนโยบายเร่งด่วน 30 บาทอัปเกรด โครงการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 7 มกราคม 2567 นี้ โดย สปสช. ได้ทำการปรับวิธีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ในการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ลดการรอคิวรับบริการ
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ระบบนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการในการบันทึกข้อมูลการยืนยันตัวตน เพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพการให้บริการ และการเบิกจ่ายให้หน่วยบริการได้รวดเร็ว รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ เช่น การจองคิว การเช็คสิทธิ การขอใบรับรองแพทย์ดิจิทัล หรือการนัดหมายออนไลน์ ผ่าน LINE OA และ Application ได้ทุกที่ ทุกเวลา
ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ขั้นตอนเข้ารับบริการจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนไปทำการตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ ซึ่งขั้นตอนนี้บางครั้งหากมีผู้ป่วยจำนวนมากทำให้ต้องรอคิวเป็นเวลานานและมีความแออัด จากนี้จึงไปรับบริการตามจุดที่มีนัดหมายได้ ทำให้เกิดความล่าช้า ดังนั้น สปสช. จึงปรับขั้นตอนใหม่ ใช้วิธีเดียวกับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยเป็น “การยืนยันตัวตนหลังรับบริการ” ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยเดิมที่มีนัดหมายบริการ สามารถเข้ารับบริการ ณ จุดที่นัดหมายได้เลย ไม่ต้องมาทำการตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ โดยวิธีใหม่นี้จะเริ่มใช้ใน 4 จังหวัดนำร่อง “โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 7 มกราคม 2567 ก่อนที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
“พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ป่วยที่มีนัดมาเจาะเลือด ก็ให้ไปที่ห้องแล็บ (LAB) ได้เลย ไม่ต้องมาทำการตรวจสอบสิทธิหรือยืนยันตัวตนเหมือนวิธีเดิม หลังเจาะเลือดแล้ว กรณีที่ไม่ต้องอยู่รอพบแพทย์ ก็ให้ยืนยันตัวตนหลังรับบริการที่ห้องแล็บได้เลย แต่หากกรณีต้องรอพบแพทย์ แต่ไม่ต้องรับยาก็ให้ยืนยันตัวตนหลังรับบริการที่ห้องตรวจ แต่หากต้องรับยาด้วยก็ให้ยืนยันตัวตนหลังรับบริการที่ห้องยาแทน เป็นต้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ป่วยรับบริการสิ้นสุดที่จุดใหน ก็ยืนยันตัวตนที่จุดนั้นได้เลย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับวิธีในการยืนยันตัวตนหลังการรับบริการ มี 6 วิธีด้วยกัน ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและการจัดบริการของหน่วยบริการและประชาชน ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่มี 1 วิธี โดยทำการยืนยันการรับบริการผ่านเครื่องรูดบัตรเคลื่อนที่ (EDC: Electronic Data Capture) เครื่องเดียวกับที่กรมบัญชีกลางใช้กับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่อีก 5 วิธี ประชาชนดำเนินการได้เองวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
1.เครื่องให้บริการอัตโนมัติ (KIOSK)
2.เครื่องอ่านบัตรประชาชน (Smart Card)
3.แอปพลิเคชันไลน์ (Line Application) ได้แก่ ไลน์ OA สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนูขอรหัสเข้ารับบริการ
4.แอปพลิเคชันที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของ สปสช. ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด ปัจจุบันที่ใช้งานแล้วคือ แอปฯ หมอพร้อม และแอปฯ เป๋าตัง
5.การพิสูจน์ตัวตน (Authentication) และการส่งข้อมูลเบิกจ่ายภายในวันที่รับบริการ
“วันที่ 7 ม.ค. 67 ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง เมื่อเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ท่านสามารถเข้ารับบริการจุดนัดหมายรับบริการได้เลย ไม่ต้องตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ และหลังเสร็จสิ้นการรับบริการ ณ จุดสุดท้ายจึงทำการยืนยันการรับบริการ โดย สปสช. จะมีการประเมินผลหลังเดินหน้าระบบไประยะหนึ่งแล้วเพื่อนำมาพัฒนาระบบต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว