อเล็กซานเดอร์ โนวัก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียระบุว่า “การปฏิเสธน้ำมันจากรัสเซียจะนำปสู่ผลลัพธ์อันพินาศต่อตลาดโลก” ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัวไปอยู่ในราคา 300 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9,950 บาท) ต่อบาร์เรล
ในตอนนี้ สหรัฐฯ กำลังพยายามผลักดันการแบนที่เป็นไปได้กับพันธมิตรของตนเอง เพื่อลงโทษรัสเซียจากการรุกรานยูเครนผ่านการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย อย่างไรก็ดี เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ได้ปฏิเสธแผนดังกล่าวของสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 มี.ค.)
ปัจจุบันนี้ สหภาพยุโรปนำเข้าแก๊ซ 40% และน้ำมัน 30% ที่ตนเองใช้มาจากรัสเซีย และไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหภาพยุโรปจะหาแหล่งพลังงานทดแทนของตนเองได้ หากมีการยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เช่นเดียวกันกับคำยืนยันของโนวักว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะหาการทดแทนน้ำมันจากรัสเซียอย่างรวดเร็วในตลาดของยุโรป”
“มันใช้เวลาเป็นปี และมันยังเป็นราคาที่แพงมากยิ่งขึ้นกับผู้บริโภคในยุโรป พูดให้ถึงที่สุด พวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากผลลัพธ์ดังกล่าว” โนวักกล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากยุโรปทำการแบนน้ำมันรัสเซีย จนทำให้รัสเซียตัดสินใจตัดการส่งก๊าซเข้ามายังยุโรป
เมื่อเดือนก่อน เยอรมนีได้ระงับการพิจารณาใบอนุญาตท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ท่อส่งแก๊ซใหม่ที่จะเชื่อมต่อกับสองประเทศ โดยโนวักระบุว่า การคว่ำบาตรอาจจะกระตุ้นให้รัสเซียใช้มาตรการตอบโต้ "เรามีสิทธิ์ทุกประการในการตัดสินใจ และกำหนดการห้ามส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 (ที่มีอยู่)"
ปัจจุบันนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก ทั้งนี้ การคว่ำบาตรอุตสาหกรรมพลังงานต่อรัสเซีย และการที่รัสเซียจะตัดสินใจยุติการส่งออกพลังงานไปยังยุโรปจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของตนเองและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในทางตรงกันข้าม ยูเครนเรียกร้องให้ชาติตะวันตกทำการแบนน้ำมันรัสเซีย อย่างไรก็ดี ความกังวลว่าการตัดสินใจการแบนพลังงานรัสเซียอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันของโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังเกิดความกังวลของนักลงทุนว่า การคว่ำบาตรใดๆ ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 139 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,610 บาท) ต่อบาร์เรล ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นราคาที่พุ่งสูงขึ้นที่สุดในรอบ 14 ปี
Reuters รายงานว่า สหรัฐฯ อาจเดินหน้าการคว่ำบาตรรัสเซียโดยไม่มีพันธมิตรของตนเข้าร่วมด้วย แม้ว่าสหรัฐฯ จะอาศัยการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพียงแค่ 3% เท่านั้น ทั้งนี้ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระบุว่า เยอรมนีปฏิเสธที่จะแบนพลังงานรัสเซียในภาพกว้าง เนื่องจากยุโรป “จงใจที่จะยกเว้น” การคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย เนื่องจากอุปทานพลังงานที่รัสเซียมีต่อยุโรปนั้นไม่สามารถหามาทดแทนได้ “ด้วยวิธีอื่น” ในตอนนี้
ที่มา: