ไม่พบผลการค้นหา
ตลอดห้วงเวลา 5 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทสรุปแห่งคดีที่เกิดขึ้นต่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และบุคคลในครอบครัว ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายอีกต่อไป ด้วยระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีคำพิพากษา 2 คดีของนายกฯ ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น Exim Bank ปล่อยกู้เมียนมา ให้จำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา และล่าสุด หวยบนดิน ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ย้อนกลับไปปลายปี 2560 ทั้ง 2 คดี เกิดจากการที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาศัยตัวบทตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ มีมติให้รื้อคดีย้อนหลัง รวม 3 คดี 

โดย 2 ใน 3 คือคดีของนายทักษิณ โดยอ้างตามมาตรา 28 ซึ่งถูกร่างขึ้นใหม่โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. 

ท่ามกลางข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงความเป็นธรรม จากการเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจไต่สวนและพิพากษา ย้อนหลัง-ลับหลัง จำเลย ซึ่งยังคงเป็นที่ข้อครหาและมีการตั้งข้อสังเกตมากมายในปัจจุบัน จากบุคคลในแวดวงยุติธรรม

เริ่มจาก นายวิญญัติ ชาติมนตรี กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เท้าความกลับไปว่า ก่อนหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามวิธีพิจารณาความที่แก้ไขใหม่นั้น นักกฎหมายโดยเฉพาะในสายปฏิบัติทราบดีว่า คือการพิจารณาลับหลังไม่ต้องมีจำเลย และไม่ต้องพิจารณาต่อหน้าจำเลยนั่นเอง แต่มีคำถามว่ากติกานี้เป็นที่ยอมรับหรือล้าหลังกันแน่

"การออกกฎหมายให้มีผลใช้บังคับย้อนไปบังคับกับคดีหรือพฤติเหตุที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายบังคับใช้ เช่น พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 ออกมาบังคับใช้ มาตรา 28 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ ออกหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แม้ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนได้ก็ตาม แต่การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ กฎหมายเช่นนี้เปรียบเป็นโกงความยุติธรรมได้หรือไม่"  

ทนายวิญญัติ สรุปว่า จำเลยคงไม่ได้อ่อนไหวกับกระบวนที่มีกติกาเช่นนี้ คนทั่วไปก็คิดได้ กว่าจะมาถึงวันนี้หลายกรณีที่เป็นผลผลิตมาจากกระบวนการยุติธรรม ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากคนทั้งในและต่างประเทศเพียงใด แม้ผลคดีจะตัดสินลงโทษจำเลยที่ไม่มาต่อสู้คดี แต่ก็มีคำถามอีกว่าโอกาสที่ต้องให้จำเลยต่อสู้อย่างเต็มที่ เสนอข้อโต้แย้งต่างๆ ทั้งพยานหลักฐานและข้อชี้แจงต่างๆ ถูกกระทำอย่างสมบูรณ์หรือไม่ ทั้งในชั้นไต่สวนภายใต้กฎกติการที่ป.ป.ช.พยายามพัฒนารุกไล่อย่างที่เห็น สังคมไทยคงต้องศึกษาหลักนิติธรรมสากลควบคู่ไปด้วย

สอดรับกับความเห็นจาก นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช. ที่ยืนยันชัดเจนว่า ส่วนตัวแล้วดิฉันไม่เห็นด้วยกับการอ่านคำพิพากษาลับหลัง จริงอยู่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เปิดช่องให้ทำได้จริง แต่เมื่อยึดตามหลักนิติธรรมแล้ว จึงไม่เห็นด้วย ในทางอาญาการจะพิพากษาลับหลัง จะต้องคำถึงหลักการได้สัดส่วน โดยคำนึงถึงโทษของจำเลยซึ่งจะต้องไม่สูง หากมีโทษสูงจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ที่ผ่านก็เคยมีการพิพากษาลับหลังจำเลย แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และโทษไม่สูง

ตามพื้นฐานทางอาญาทั่วไป ที่กำหนดไว้ใน ม.172 ทวิ ของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กำหนดเงื่อนไขของการพิจาณาและสืบพยานลับหลังจำเลยให้กระทำได้เมื่อศาลเห็นสมควร สำหรับคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี  

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากต่อไปนี้ จำเลยไม่อยู่แล้วเดินหน้าพิพากษาลับหลังทั้งหมด จะเป็นการขัดต่อหลักความยุติธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะที่กำหนดไว้ในหลัก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ใจความว่า ศาลมีหน้าที่ในการพิสูจน์ทราบจนถึงที่สุดว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง ถึงจะมีคำพิพากษา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ออกมาเพียงอย่างเดียว 

สำหรับสิทธิการอุทธรณ์ของจำเลย ตามมาตรา 61 ของพ.ร.ป.ว่าด้วย พิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา คงใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะกำหนดไว้ว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับจากมีคำพิพากษา โดยจำเลยต้องมาแสดงตนเอง มิเช่นนั้น จะไม่รับคำร้องขออุทธรณ์ 

ส่วนข้อสงสัยของใครหลายคนว่า ตลอด 13 ปี นับจากถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 อันเป็นจุดตั้งต้นของการตรวจสอบโดย คตส. ที่ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ทำไมคดีความของนายทักษิณจึงยังไม่จบจนถึงวันนี้นั้น นางสมลักษณ์ อธิบายว่า ไม่จบ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องทางการเมืองมาประกอบด้วย โดยมุ่งจะกีดกันนายทักษิณและครอบครัวให้พ้นจากการเมืองไทย อย่างคดี Exim Bank และ คดีหวยบนดินนั้น ผ่านตาดิฉันมาตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งป.ป.ช.แล้ว แต่ด้วยคดีเหล่านี้มีอายุความที่ 20 ปี จึงอาจถูกมองว่า เป็นประโยชน์แก่นายทักษิณ 

"ความเห็นส่วนตัวของดิฉันจึงมองว่า นี่เป็นที่มาของความคิดริเริ่มในการ่างกฎหมายอาญานักการเมืองฉบับใหม่ ให้สามารถดำเนินการลับหลังและไม่มีอายุความ" นางสมลักษณ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :