ไม่พบผลการค้นหา
คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกดคีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 3 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีปล่อยกู้ผ่าน Exim Bank 4,000 ล้าน ให้รัฐบาลเมียนมา ฐานเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หลังพบรัฐบาลเมียนมาทำธุรกรรมกับบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 400 ล้าน อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

ในทางกลับกัน กลับยิ่งทำให้เห็นภาพความต่อเนื่องเชื่อมโยงของรัฐประหาร 2549 กับรัฐประหาร 2557 แจ่มชัดยิ่งขึ้้น ถึงกระบวนการ “รุกไล่” ทางการเมืองต่อ “ครอบครัวชินวัตร” หวัง “เผด็จศึก”เบ็ดเสร็จ ผ่านกลไกทางกฎหมายที่องคาพยพของคณะรัฐประหารเป็นผู้ออกแบบ เพื่อไม่ให้รัฐประหาร “ของเสีย” เป็นเรื่อง “เสียของ”  

เมื่อมองย้อนกลับไปราวกลางปี 2560 ระหว่างการจัดทำและพิจารณา ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ... โดยกรธ.และสนช. ก็จะพบว่า คดีปล่อยกู้ Exim Bank ให้รัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้าน คือ 1 ใน 4 คดีปลายทาง

ซึ่งขั้วตรงข้ามทักษิณ ก็เปิดเผยอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ผลพวงของกฎหมายอาญานักการเมืองฉบับใหม่ จะส่งผลให้คดีดังกล่าวถูกปัดฝุุ่นหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง หลังถูกจำหน่ายออกจากสารบบชั่วคราว

เพราะเนื้อหาสาระในกฎหมายอาญานักการเมืองฉบับใหม่นั้น เปิดโอกาสให้ศาลไต่สวนและพิพากษาลับหลัง หากจำเลยไม่มาศาล หรือผ่านไป 3 เดือนแล้วยังจับไม่ได้ ประเด็นดังกล่าวเกิดเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างถึงแง่มุมของความเป็นธรรมที่จำเลยควรได้รับ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ (ในขณะนั้น) เคยตั้งคำถามพร้อมโต้แย้งไว้อย่างน่าสนใจว่า การพิจารณาคดีอาญานักการเมืองแบบลับหลังจำเลยนี้ ขัดหลักการต่อสู้โต้แย้ง และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ในขณะที่ระบบวิธีพิจารณาความอาญาปกติของไทย ยอมให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอย่างจำกัดมาก มีการอธิบายว่า วิธิพิจารณาความอาญานักการเมืองยอมให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ เพราะการพิจารณาคดียึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก เป็นการพิจารณาในทางเอกสารเป็นหลัก

"แม้จำเลยไม่อยู่ก็สามารถพิจารณาได้ เพราะศาลแทบไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเท่าไรแล้ว เนื่องจากใช้สำนวนของ ป.ป.ช. เหตุผลนี้ ก็พอรับฟังได้อยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า เกือบทุกคดี ศาลไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเสมอ เรียกบุคคล เรียกเอกสารใหม่มาสืบกันอยู่เสมอ เมื่อจำเลยไม่อยู่ ก็น่าคิดว่าการพิจารณาคดีต่อไปจะกระทบสิทธิในการต่อสู้หรือไม่"

คำถามถึงความเป็นธรรมยังเกิดขึ้นตามมาอีก เมื่อกฎหมายอาญานักการเมือง ไม่ได้มีเพียงแค่ "ลับหลัง" แต่ยังมีผล "ย้อนหลัง" อีกด้วย โดยร่างแรกของกรธ. วางบทเฉพาะกาลให้สิทธิการอุทธรณ์มีผลย้อนหลัง ถือว่าเป็นคุณต่อจำเลย ทว่าเมื่อเข้าถึงชั้นกมธ.ของสนช. ก็มีการสอดไส้ ปรับแก้ไขให้ การไต่สวน-พิพากษาลับหลัง มีผลย้อนหลังด้วยเช่นกัน แม้ไม่ได้ระบุจำเพาะเจาะจงให้บังคับใช้สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง แต่สาธารณชนคนธรรมดาย่อมรับรู้ได้ว่า นั่นทำให้กินความกลับไปถึง คดีของนายทักษิณทั้งหมด  

นำไปสู่การคัดค้านอย่างกว้างขวาง โดยมองว่า การจะหนดให้มีผลย้อนหลังหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงหลักการใช้กฎหมายอาญา ที่จะพิจารณาไม่บังคับใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลัง หากเป็นโทษต่อจำเลย แล้วสุดท้ายก็ไม่อาจทัดทาน สภาฝักถั่วลงมติผ่านฉลุย เช่นกฎหมายทุกฉบับ

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตพุ่งเป้าไปยังตัวบุคคลในกรธ.ที่เป็นสายทหารยศพลตรี ที่แทบจะไม่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ วางตัวในแบบฉบับ “โลว์โปรไฟล์” แต่ทำไมกลับกลายเป็น “คีย์แมน” ที่กรธ.มอบหมายให้รับผิดชอบเป็นกมธ.ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวกับสนช.

เมื่อพิจารณาประวัติส่วนตัวก็อาจทำให้ถึงบางอ้อ “กรธ.พลตรี” เป็นนายทหารคนสนิททำงานควบคู่กับพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่สมัยที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผบ.ทบ.ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญ กองทัพบก (ผอ.สธน.ทบ.) มีบทบาทสำคัญในช่วงต้นการยึดอำนาจ 2557 ในการออกคำสั่งเรียกนักการเมือง นักวิชาการ และผู้เห็นต่างเข้าค่ายทหารจำนวนมากเพื่อปรับทัศนคติ

ย้อนกลับไปยังปี 2549 ก็อย่างที่ทราบกันดี จุดเริ่มต้นของคดี Exim Bank และคดีอื่นๆ เกิดจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตามประกาศคณะรัฐประหาร ฉบับที่ 30 อันเต็มไปด้วยข้อครหาถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบแสวงหาข้อเท็จจริงจากข้อกล่าวหาทุจริตต่อนายทักษิณที่ถูกยึดอำนาจ จากคณะบุคคลที่ยึดอำนาจเอง

ทุกอย่างล้วนเป็นผลพวงจากอำนาจนอกระบบที่กระทำต่อนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมตามกฎหมายและความสง่างามทางการเมือง ซ้ำร้ายหลังปี 2557 ที่เรียกกันว่า รัฐประหารซ่อม ความพยายาม “เช็คบิล” ครอบครัวชินวัตร ก็ยังคงอยู่ข้ามทศวรรษ ซึ่งรอบคอบรัดกุม ผ่านการวางกลไกรัฐและกฎหมายอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น  

ดังนั้นอีก 3 คดีของนายทักษิณที่ยังต้องเผชิญกับการ “ลับหลัง” และ “ย้อนหลัง” คือ1.คดีกล่าวหาเห็นชอบออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

2.คดีกล่าวหาร่วมผู้บริหารธนาคาร-เอกชนทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร กว่า 9.9 พันล้านบาท

3. คดีกล่าวหาร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลออกนโยบายออกสลากเลขท้าย 3 และ 2 ตัว (หวยบนดิน)

ก็คงไม่ต้องเสียเวลาทายว่าจะออกหัวหรือก้อย ในเมื่อองค์กรที่ออกกฎหมาย ช่วงเวลาที่ออกกฎหมาย ล้วนเกิดขึ้นในยุครัฐประหาร ซึ่งขาดการยอมรับจากทุกฝ่ายของสังคม ต่างจากข้อเสนอจากกลุ่มนิติรษฎร์ ในการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร ผ่านการรื้อคดีทางการเมืองเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ โดยระบบปกติ ไม่ใช่ระบบที่กำหนดโดย “คู่ตรงข้าม” ซึ่งไม่เคยถูกรับฟัง  

13 ปี ผ่านไป รัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนนูญ 2 ฉบับ ก็ไม่ต้องแปลกใจ ทำไมชื่อทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงยังอยู่ในกระแสการรับรู้ และความรู้สึกของสังคมไทย ในฐานะผู้ถูกกระทำเช่นทุกวันนี้


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนรอยคดี Exim Bank ปล่อยกู้เมียนมา มูลเหตุแห่งการสั่งจำคุก 'ทักษิณ' 3 ปี

เปิด 20 ข้อเท็จจริงที่คนรุ่นนี้ไม่เคยอ่าน : กรณีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า