ไม่พบผลการค้นหา
ผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐฯ ไม่รับคำร้องของภาคประชาสังคมที่ขอให้ยกเลิกการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ในหลายรัฐ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองบางพรรคได้เปรียบในการเลือกตั้งปี 2020 โดยระบุว่า "เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล"

องค์กรภาคประชาสังคม Common Cause ซึ่งรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ประณามคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐฯ ซึ่งลงมติ 5 ต่อ 4 เสียง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2562 'ไม่รับคำร้อง' ขององค์กรคอมมอนคอส ที่ขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ในหลายมลรัฐ ซึ่งทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้เปรียบในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นทั่วประเทศในปีหน้า (ค.ศ.2020) 

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของจอห์น โรเบิร์ตส์ ประธานผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า การพิจารณายกเลิกการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ส่วน 'เอลีนา เคแกน' หนึ่งในคณะผู้พิพากษาที่เป็นเสียงข้างน้อย วิจารณ์มติดังกล่าวว่าไม่เหมาะสม พร้อมย้ำว่า "นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศาลฏีกาปฏิเสธที่จะระงับยับยั้งการละเมิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจเพียงพอ"

ทั้งนี้ เคแกนเป็น 1 ใน 4 ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิเสธคำร้องของคอมมอนคอส ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านเดโมแครต ในขณะที่โรเบิร์ตและผู้พิพากษาอื่นๆ รวม 5 ราย เป็นผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลรีพับลิกัน แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ซึ่งถูกโจมตีว่าไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้พรรคใดพรรคหนึ่งมากเกินไป มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล

"ไม่ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่นี้จะทำให้พรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครตได้เปรียบก็ตาม คนที่ถูกโกงก็คือประชาชน" เนื้อหาในแถลงการณ์ของคอมมอนคอสระบุ "การปล่อยให้นักการเมืองแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง ก็เหมือนกับปล่อยให้สุนัขจิ้งจอกเฝ้าเล้าไก่"

ด้านซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มลรัฐที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านฐานคะแนนเสียงจากการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ ได้แก่ เขต 7 มลรัฐเพนซิลเวเนีย เขต 3 มลรัฐแมรีแลนด์ และเขต 33 มลรัฐเท็กซัส

ขณะเดียวกัน เดอะนิวยอร์กไทม์สรายงานเพิ่มเติมว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมากเห็นด้วยกับมติของคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากหลายมลรัฐที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ ยึดตามพื้นที่ที่พรรครัฐบาลรีพับลิกันได้คะแนนมากกว่าพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 

ทางด้านสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตหลายรายก็ออกมาแสดงความเห็นในทางตรงกันข้าม เพราะส่วนใหญ่ไม่พอใจต่อคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยระบุว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้พรรครัฐบาล อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านที่กลายเป็นเสียงส่วนน้อยในภูมิลำเนาของตัวเอง และการกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิพลเรือนที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ สมาชิกพรรคเดโมแครตที่เตรียมตัวลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคไปแข่งกับพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้าจึงเริ่มประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง โดยระบุว่า ถ้าตนได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรค จะผลักดันให้แก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงจะต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับใหม่ที่ป้องกันการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอารัดเอาเปรียบประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: