ไม่พบผลการค้นหา
กกต. เผยวางกรอบเวลา 29 วันให้ กกต.จังหวัดพิจารณาการแบ่งเขต-ปปช. และพรรคการเมืองแสดงความเห็น-สรุปความเห็นส่ง กกต. กลาง-กกต. พิจารณา พร้อมแจงวิธีคิดจำนวนราษฎรในการแบ่งเขต นับรวมผู้ไม่ใช่สัญชาติไทยร่วมด้วย ระบุเชิญพรรคการเมืองเข้าหารือพุธหน้า

1 ก.พ. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปกรณ์ มหรรณพ และ ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย กิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาฯ กกต. แถลงข่าวถึงการเตรียมความพร้อมต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. และการนับจำนวนราษฎรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 

โดย ปกรณ์ ชี้แจงว่า ตามที่มีการรายงานข่าวว่า กกต. ขอเวลา 45 วันหลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง ประกาศใช้ สิ่งที่ถูกต้องคือ กกต. ได้ประสานทางรัฐบาลตลอด เพียงแต่ไปชี้แจงทำความเข้าใจกันว่า เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศใช้แล้ว เรามีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา คือ กกต. จังหวัดจะแบ่งเขตภายใน 3 วัน และต้องประกาศให้ประชาชนแสดงความเห็นผ่าน กกต.จังหวัดในระยะเวลา 10 วันตามกฎหมาย เมื่อครบแล้ว กกต. จะทำความเห็นว่า รูปแบบไหนที่เหมาะสมในการแบ่งเขต 

หลังจากนั้น กกต. จะรีบพิจารณา และตั้งเป้าให้เสร็จ ซึ่งทาง กกต.จะต้องใช้เวลาพิจารณาวันละ 100 เขต ซึ่งไม่ใช่ความสะดวกสบาย หรือก่อให้เกิดปัญหา แต่เราได้เตรียมการ และตั้งเป้าหมายไว้แล้ว เพียงแต่ เลขา กกต. เป็นคนมีน้ำใจคำนึงถึงพรรคการเมือง เมื่อดำเนินการเสร็จ ใช้เวลาประมาณ 20 วัน พรรคการเมืองต้องมีเวลาในการที่จะจัดการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้ถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งนี้คือสิ่งที่เราเผื่อไว้ให้พรรคการเมือง 

ปกรณ์ เปิดเผยอีกว่า ในวันพุธที่ 8 ก.พ. ทาง กกต. จะเชิญพรรคการเมืองทั้งหมดมาเพื่อพูดคุยเรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนที่เหมาะสม และทำไพมารีโหวตเพื่อให้ทุกพรรคทำอย่างถูกต้อง โดยเน้นย้ำว่า ตลอดเวลา กกต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ถ้ารัฐบาลยุบสภาจะมีเวลา 60 วัน ถ้าครบกำหนดสภาจะมีเวลา 45 วัน

สำหรับกรอบระยะเวลาในการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น กกต. ระบุว่า  

  1. วันที่ 1-3 ก.พ. 2566 : ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ 
  2. วันที่ 4-13 ก.พ. 2566 : ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเพื่อรับฟังความเห็นประชาชน และพรรคการเมือง
  3. วันที่ 14-16 ก.พ. 2566 : ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดสรุปความเห็นของประชาชน และพรรคการเมือง พร้อมเสนอรูปแบบการแบ่งเขตต่อ กกต. กลาง
  4. วันที่ 20-28 ก.พ. 2566 : คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ ปกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวเกี่ยวกับจำนวนราษฎรที่ใช้ในการคำนวณการแบ่งเขตการเลือกตั้งว่า ต้องแยกให้ออกระหว่างจำนวนราษฎร และจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยมาตรา 86 กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักทะเบียนกลางได้มีประกาศจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ต่อมาในปี 2558 เป็นปีแรกที่สำนักทะเบียนได้ประกาศแยกชายหญิงสัญชาติไทย และชายหญิงที่ไม่ใช่สัญชาติไทย การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเราก็ประกาศแบบนี้ 

โดยเราเห็นสอดคล้องกันว่าต้องคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยโดยชอบด้วยกฏหมาย เหตุผลที่ต้องแยกเพราะเราต้องคำนึงคนที่การเสียภาษีอย่างถูกต้อง การให้บริการเขา ค่าธรรมเนียมต่างๆ เรานับรวมเขาเป็นราษฎรด้วย

"การคิดจำนวนราษฎรต้องคิดจำนวนรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพราะราษฎรไม่ได้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งทุกคน ฉะนั้น กรณีของคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย แต่มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง มีการดำเนินการได้ตามกฎหมายของประเทศไทย แม้จะไม่ใช่สัญชาติไทยแต่ให้นับรวมเป็นราษฎรด้วย"