นับตั้งแต่วันที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงข่าวถึง ‘ข้อสั่งการ’ นายกฯ ว่าด้วยการแบ่งวิธีจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดิมเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ (คาดว่าจะเริ่มใช้เดือนมกราคม 2567) กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็เซ็งแซ่ในหมู่ประชาชน นักวิชาการ และข้าราชการ ที่พากันกันชี้ข้อดีข้อเสีย และถามหาเหตุผลของการเสนอแนวคิดนี้ต่อสังคม ตั้งแต่วันแรกของการประชุม ครม.
สำหรับเหตุผลตั้งต้น เศรษฐาระบุว่า ตนตระหนักดีว่าเรื่องของกระแสเงินสดของทุกๆ คนในกระเป๋าเป็นเรื่องสำคัญ จึงให้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นแบ่งจ่าย 2 รอบ รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งนี้ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป เนื่องจาก ต้องมีการแก้ไขระบบหลายอย่าง จึงทำทันทีไม่ได้
จุดประสงค์คือความตั้งใจแก้ปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินและช่วยแบ่งเบาภาระให้ข้าราชการสามารถจ่ายหนี้สินได้เร็วขึ้น แก้ปัญหาการชักหน้าไม่ถึงหลัง โดยเศรษฐายืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดแต่อย่างใด อีกทั้้งนโยบายนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียง Re-Program การจ่ายเงินใหม่เท่านั้น และรัฐบาลคำนึงวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก
หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง 13 ก.ย.2566 เฟซบุ๊กเศรษฐาโพสต์ข้อความชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้าราชการสามารถเลือกได้ว่าจะให้จ่ายแบบใด โดยรัฐบาลได้หารือกรมบัญชีกลางถึงความสามารถในการจ่าย 2 งวดเรียบร้อยแล้วว่าไม่ติดขัด ต้องดูระยะเวลาว่าจะสามารถเริ่มได้ต้นปีหน้าหรือไม่ต่อไป
หากสรุปเหตุผลข้อกังวลของเหล่าข้าราชการที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ มีเรื่องหลักดังนี้
ท่ามกลางความกังวลและคาดเดาต่างๆ นานา ‘วอยซ์’ จึงชวนตั้งสมมติฐานและค้นหาคำตอบร่วมกันว่า หากนโยบายการแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 ครั้งต่อเดือน สามารถออกแบบกลไกครอบคลุมถึงสถาบันการเงิน ในการให้ชำระหนี้ 2 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการเงินของข้าราชการ จะส่งผลดีด้านดอกเบี้ยในระยะยาวหรือไม่ หรือยังมีข้อจำกัดใดที่มองไม่เห็นอยู่อีกบ้าง
นักบัญชีจากสหกรณ์มหาดไทย เล่าให้เราฟังว่า แม้ขณะนี้นโบายดังกล่าจะยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก แต่ก็ได้สร้างความกังวลต่อข้าราชการ รวมถึงคนทำงานในสหกรณ์เองด้วย จากการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น
"โดยปกติแล้ว สหกรณ์จะเรียกเก็บค่างวดไปที่กองคลังของแต่ละกระทรวงที่สมาชิกสังกัดข้าราชการอยู่ โดยสหกรณ์จะเก็บเป็นดอกเบี้ยรายปี ขึ้นอยู่ว่าสมาชิกจะยื่นกู้สัญญาเงินกู้อะไร ถ้าเป็นเงินกู้สามัญ ดอกเบี้ย 6.45% ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ข้าราชการจะชำระหนี้เดือนละ 1 ครั้ง โดยสหกรณ์จะส่งยอดไปเรียกเก็บเงินและส่งยอดไปที่กองคลังช่วงต้นเดือน เพื่อที่กองคลังจะส่งเข้ากรมบัญชีกลาง ให้กรมบัญชีกลางหักยอดหนี้ของข้าราชการให้สหกรณ์"
"หากว่าการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการสองงวด รัฐให้สหกรณ์ปปรับตามด้วย โดยหั่นการชำระหนี้ออกเป็น 2 ครั้งต่อเดือน จะพบว่า ดอกเบี้ยการกู้ยืมระยะยาวจะถูกลงมากๆ เพราะการคิดดอกเบี้ยจะคำนวณจากเงินคงค้าง ดังนั้น หากคิดดอกเบี้ย 2 ครั้งต่อเดือนก็จะทำให้ดอกเบี้ยถูกลงได้ หลักการนี้ถูกต้อง"
นักบัญชีสหกรณ์ยังชี้ให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย หากสหกรณ์มหาดไทยต้องปรับเปลี่ยนการชำระหนี้ของลูกหนี้ออกเป็น 2 ครั้งต่อเดือนว่า หากรัฐบาลปรับตามนั้น ประโยชน์จะตกกับลูกหนี้ในแง่ของดอกเบี้ยที่ลดลงในระยะยาว แต่ในทางปฏิบัติ การออกแบบระบบหักหนี้ 2 ครั้งก็จะสร้างภาระงานให้คนทำงานที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วย
“ในทางปฏิบัติ เราคาดว่าเป็นไปไม่ได้ ในส่วนของเงินเดือนข้าราชการ สมมติข้าราชการคนหนึ่งได้ 50,000 หักหนี้สหกรณ์ไป 30,000 บาท จะเหลือเงินเดือน 20,000 เงินที่เหลือนี้กรมบัญชีกลางอาจจะแบ่งจ่าย 2 ครั้งได้ แต่ในกรณีจะให้สหกรณ์เรียกเก็บหนี้แบ่ง 2 ครั้งเหมือนกัน เรามองว่าค่อนข้างยุ่งยาก และกังวลอยู่ว่ากรมบัญชีกลางจะออกคำสั่งมาแนวทางไหน"
“หากให้สหกรณ์ทำออกใบเรียกเก็บหนี้ 2 ครั้งต่อเดือน จะเพิ่มภาระการทำงานของสหกรณ์มหาศาล แต่บอกก่อนว่า ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน เป็นแค่การคาดเดาของผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น"
เธอย้ำว่า หากมีนโยบายว่าจะเรียกเก็บหนี้แบ่ง 2 ครั้งต่อเดือน แล้วสหกรณ์ไม่ได้รับการการสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มจากนโยบายนี้ ภาระงานของคนทำงานก็จะเพิ่มขึ้น และอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมาได้
นักบัญชีจากธนาคารกสิกรท่านหนึ่ง ได้ลองคำนวณให้เราคร่าวๆ เปรียบเทียบดอกเบี้ยจากการคำนวนด้วยสูตรสินเชื่อ 2 รูปแบบ คือแบบจ่ายหนี้ 1 งวด และจ่ายหนี้ 2 งวดต่อเดือน โดยเขาพบว่า
หากเราตั้งสมมติฐานว่า มีการกู้เงินต้น 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5% ผ่อนเดือนละ 18,000 บาท แล้วลองมาเปรียบเทียบ 2 กรณี จะพบผลลัพธ์ดังนี้
“การคำนวนนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่า หากนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวดของรัฐบาล สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ 2 งวดต่อเดือนได้ จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวถูกลง และลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น เช่นกรณีที่คำนวณข้างต้น ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้นประมาณ 2 เดือน
"เวลาที่ธนาคารคิดดอกเบี้ย เขาจะคิดด้วยสูตร (เงินต้นคงค้าง x อัตราดอกเบี้ย) x จำนวนวันในงวด ÷ ดอกเบี้ยต่องวด เป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก หากเป็นการชำระหนี้ 2 ครั้งต่อเดือน โดยรวมแล้วดอกเบี้ยจะถูกขึ้นจริง แต่ไม่ได้เยอะมาก"
โดยเขามองว่า การจ่ายเงินเดือน 2 งวด หากรายได้ไม่พอรายจ่าย ต้นทุนการใช้ชีวิตสูง สุดท้ายรายจ่ายก็มากกว่ารายได้อยู่ดี แม้ว่าจะจ่ายรายวัน จ่ายรายสัปดาห์ หรือรายครึ่งเดือนก็ตาม และอาจทำให้ข้าราชการต้องไปหากู้เงินจากแหล่งอื่นๆ มาเสริมสภาพคล่อง แปลว่าคนที่เงินไม่พอใช้ทุกเดือน ยังไรเสียก็ต้องไปหากู้เงินมาใช้อยู่ดี
ด้านนักวางแผนการเงินคนหนึ่ง เล่าว่า เธอเคยเข้าไปช่วยวางแผนการเงินให้ข้าราชการครูจำนวนหนึ่งและพบว่า ครูจำนวนมากเผชิญกับสภาวะหนี้หัวแตก สภาพการเงินติดลบ เงินเดือนไม่พอรายจ่าย ส่งผลให้ต้องกู้วนไปเรื่อยๆ
“อย่างที่เรารู้กัน ข้าราชการจะกู้ง่าย กู้สหกรณ์ก็ได้ กู้ที่ไหนก็ได้ ไม่มีการเช็กว่าลิมิตของข้าราชการตอนนี้กู้มา 90% ของรายได้นะ ปล่อยกู้ไม่ได้นะ ไม่มี บางคนกู้จนภาระเกิน 120% ของรายได้แล้วก็มี แต่เขาก็ยังกู้ได้โดยเฉพาะคุณครู”
ในทรรศนะของเธอ ข้อดีของนโยบายนี้คือการได้รับเงินบ่อยจะช่วยในเรื่องสภาพคล่องได้ จากที่ต้องรอสิ้นเดือน ก็ทำให้ข้าราชการรู้สึกว่าระยะเวลาในการรอน้อยลง ประเด็นคือจะดีมากหากรัฐบาลออกแบบนโยบายครบวงจร นั่นคือ ทำให้หนี้ที่ข้าราชการต้องจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงหน่อย ซึ่งจะทำให้เขาสามารถลดภาระหนี้ดอกเบี้ยได้ แล้วทำให้เงินต้นของเขาถูกตัดมากขึ้น ดอกเบี้ยที่คิดในการกู้ก็จะลดน้อยลง เพิ่มโอกาสปิดหนี้และปลดภาระได้เร็วขึ้น
“สมมติเราได้เงิน 10,000 ต่อเดือน กับได้เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5,000 ต่อเดือน ถ้าหนี้เขาเหมือนเดิม มันก็เหมือนเดิมเลย สมมติเขามีหนี้ต้องจ่าย 8,000 บาท แล้วต้องจ่าย 4,000 สองครั้ง แล้วเก็บไว้กิน 2 รอบ รอบละ 1,000 บาท สุดท้ายก็เหมือนเดิม ถ้าไม่ได้ช่วยให้ปริมาณที่ต้องจ่ายหนี้ลดลงด้วยดอกเบี้ยที่น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ”
ข้อเสนอแนะของเธอคือ รัฐบาลต้องทำทุกด้าน ทั้งด้านการแบ่งจ่ายเงินเดือน การปล่อยกู้ และด้านการชำระเงินกู้ ซึ่งอาจต้องมาดูกันว่า ลิมิตการกู้ของข้าราชการควรอยู่ตรงไหน หรือผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีจะมีช่องให้สามารถลดดอกเบี้ยได้ไหม ถ้าทำทั้งวงจรก็จะเป็นผลดีมากขึ้น แต่ถ้าทำเฉพาะการแบ่งจ่ายเงินนเดือน ไม่ได้ไปดูต้นทางของหนี้ข้าราชการ ผลลัพธ์อาจไม่แตกต่างมาก
อ้างอิง